เกิดคำถามถึงระบบรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ Drone ตกในสวนของทำเนียบขาว

White House Drone

นักวิเคราะห์ระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมเทคโนโลยีเครื่องบินบังคับระยะไกลหรือ Drone ที่มีใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

Your browser doesn’t support HTML5

White House Drone

ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกในทำเนียบขาวนั้น ต้องย้อนไปเมื่อปี ค.ศ 1994 เมื่อนักบินผู้หนึ่งขับเครื่องบินขนาดเล็กตกในสวนของทำเนียบขาว ทำให้ต้องมีการประเมินระบบรักษาความปลอดภัยของทำเนียบขาวกันใหม่ในตอนนั้น

แต่กรณีล่าสุดที่มีเครื่องบินแบบควบคุมระยะไกลหรือโดรน ตกในสวนของทำเนียบขาวอีกครั้งในวันจันทร์ ยิ่งเน้นย้ำถึงช่องโหว่ของระบบความปลอดภัยของทำเนียบประธานาธิบดีอเมริกัน

ปัจจุบันการซื้อหาโดรนมาใช้นั้นไม่ใช่เรื่องยาก สำนักงานควบคุมการบินของรัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดการใช้โดรนเอาไว้ที่ความสูงประมาณ 120 เมตร และต้องอยู่ในสายตาหรือการมองเห็นของผู้ควบคุมโดรนลำนั้น อย่างไรก็ตาม เครื่องบินโดรนรุ่นใหม่ๆ สามารถตั้งโปรแกรมล่วงหน้าให้บินโดยอัตโนมัติด้วยระบบที่เรียกว่า way points

อาจารย์ Matthew Spenko แห่งห้องทดลองหุ่นยนต์ สถาบันเทคโนโลยีรัฐอิลลินอยล์ ระบุว่าบริษัทผู้ผลิตโดรนบางบริษัทตั้งโปรแกรมเอาไว้เพื่อไม่ให้โดรนบินเข้าไปในพื้นที่เฉพาะบางพื้นที่ รวมทั้งในทำเนียบขาว แต่บางครั้งโปรแกรมดังกล่าวก็อาจถูกลอบเจาะล้วงข้อมูลหรือแฮกได้เช่นกัน

อาจารย์ Spenko ชี้ว่าปกติแล้วโดรนแต่ละลำสามารถบรรทุกน้ำหนักๆ ได้ราว 6 กก. สามารถบินได้นานราว 25 นาที และบินได้ความเร็วสูงสุดที่ 10 เมตรต่อวินาที

ทางด้านอาจารย์ Matthew Waite แห่งภาควิชาการสื่อสาร University of Nebraska ผู้ศึกษาการใช้โดรนในการรายงานข่าว เชื่อว่าเหตุการณ์โดรนตกในทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์อาจมีผลทางลบตามมามากมาย รวมทั้งการออกนโยบายควบคุมการใช้โดรนอย่างเข้มงวดกว่าเดิม นักวิชาการผู้นี้ยังเชื่อด้วยว่า หากมีใครต้องการใช้โดรนเพื่อสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายหรือก่อการร้าย เช่นติดวัตถุระเบิดไปกับโดรน ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย

อาจารย์ Matthew Waite ชี้ว่าปัจจุบันสำนักงานรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่มีระบบที่ไว้ใจได้ในการตรวจจับโดรน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ล่าสุดนี้ขึ้น เชื่อว่าจะมีความพยายามพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ติดตั้งรอบๆ ทำเนียบขาวอย่างแน่นอน

ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารผู้นี้เชื่อว่า อันตรายจากเครื่องบินบังคับระยะไกลหรือโดรนยังไม่มากอย่างที่กลัวกัน เพราะแม้ว่าโดรนจะสร้างความเสียหายได้ แต่ก็ไม่ใช่ความเสียหายร้ายแรงอย่างการถล่มอาคารต่างๆ ตนจึงเชื่อว่าภัยคุกคามจากโดรนนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า เทคโนโลยีโดรนจะพัฒนาต่อไป ดังนั้นรัฐบาลและผู้ออกกฏหมายจึงควรปรับปรุงกฏเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยีชนิดนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนภาคธุรกิจจะก้าวไปไกลกว่าภาครัฐในเรื่องนี้ เห็นได้จากล่าสุดเริ่มมีการนำอุปกรณ์ปกป้องการโจมตีจากเครื่องบินโดรนออกสู่ตลาดแล้ว

รายงานจากผู้สื่อข่าว George Putic / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล