สนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ลงนามร่วมกันระหว่างประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นที่จับตามองของหลายชาติ และถูกตีความในหลายแนวทางโดยนักวิเคราะห์ที่สำนักข่าวเอพีสัมภาษณ์
ข้อตกลง "สนธิสัญญาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน" ที่ผู้นำทั้งสองชาติลงนามร่วมกันในกรุงเปียงยางเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยหลักใหญ่ใจความคือการเรียกร้องให้คู่สัญญาช่วยเหลือกันและกันในทางทหารในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในภาวะสงคราม อ้างอิงตามการรายงานของสื่อทางการเกาหลีเหนือ
เนื้อหาของสัญญาข้างต้น อ้างอิงตามการเผยแพร่ของสื่อรัฐบาลเปียงยาง มีการเอ่ยถึงการขยายความร่วมมือในด้านการทหาร นโยบายต่างประเทศและการค้า
ทั้งนี้ รัสเซียไม่ได้เผยแพร่ตัวเนื้อหาสัญญาดังกล่าว
เอพีรายงานว่าข้อตกลงของสองประเทศนี้มีเนื้อหาหนักแน่นที่สุดนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุด โดยส่วนที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือการช่วยเหลือกันและกันในกรณีที่เกิดสงครามที่ระบุว่าทั้งสองชาติต้องใช้ “ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีโดยไม่รอช้า” เพื่อให้ “การช่วยเหลือทางทหารและอื่น ๆ”
ในทางรายละเอียด ข้อตกลงระบุว่าการช่วยเหลือกันต้องเป็นไปตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติข้อที่ 51 ว่าด้วยสิทธิการป้องกันตนเองของชาติสมาชิก
Your browser doesn’t support HTML5
นัยสำคัญของสนธิสัญญา ในสายตานักวิเคราะห์
ชอง ซอง ชัง นักวิเคราะห์จากสถาบัน Sejong Institute กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาระหว่างเกาหลีเหนือและสหภาพโซเวียตสมัยสงครามเย็นเมื่อปี 1961 ที่ถูกยกเลิกหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และยังคล้ายกับข้อตกลงด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ทำร่วมกัน ที่เปิดช่องทางให้คู่สัญญาร่วมมือกันเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกรุกราน
ด้านดู ฮย็อก ชา นักวิเคราะห์จากสถาบัน Asan Institute for Policy Studies ในกรุงโซล มองว่า การนำกฎหมายในประเทศตนเองและกฎหมายระหว่างประเทศมาระบุในสัญญา เป็นการจำกัดสถานการณ์ที่คู่สัญญาสามารถเข้ามาช่วยเหลือในด้านการทหาร
ซึ่งหากมองจากมุมรัฐบาลมอสโก อาจตีความได้ว่า การช่วยเหลือทางทหารจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเกาหลีเหนือไม่ได้เป็นผู้รุกรานก่อน รัสเซียต้องยอมรับการโจมตีที่เกิดขึ้นว่าเป็นสงคราม และต้องได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติก่อนว่าสามารถเข้าไปช่วยเกาหลีเหนือได้
ผู้เชี่ยวชาญจาก Asan Institute for Policy Studies กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าเนื้อหาสัญญา ก็คือเจตจำนงและศักยภาพของทั้งสองชาติในการทำตามข้อตกลง โดยยกตัวอย่างสหรัฐฯ ที่นำทหารมาประจำการและร่วมซ้อมรบกับเกาหลีใต้ ซึ่งเขายังไม่เห็นท่าทีในลักษณะนี้จากขั้วค่ายของรัสเซีย นอกจากการจัดส่งเครื่องกระสุนของเกาหลีเหนือให้กับรัฐบาลมอสโกเท่านั้น
ภาวะสงครามในยูเครนและความขัดแย้งกับเกาหลีใต้ เข้าข่ายการคุกคามในสัญญาหรือไม่
ปูตินระบุในวันพฤหัสบดีว่า การช่วยเหลือทางทหารจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อการคุกคามนั้นถูกกระทำต่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากเกาหลีใต้ไม่ได้วางแผนจะจู่โจมเพื่อนบ้านตอนเหนือ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลอะไร
ต่อคำถามว่าการที่ยูเครนโจมตีรัสเซียด้วยอาวุธของชาติตะวันตกนั้นเข้าข่ายการคุกคามในสัญญาเกาหลีเหนือ-รัสเซียหรือไม่ ปูตินกล่าวว่า “จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่ว่าก็ใกล้เคียง”
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกล่าวหาว่า เกาหลีเหนือเป็นผู้จัดส่งขีปนาวุธให้รัสเซียที่คลังแสงร่อยหรอจากการรุกรานยูเครน และรัฐบาลมอสโกก็ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับรัฐบาลกรุงเปียงยางซึ่งอาจไปเสริมศักยภาพโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของผู้นำคิม
นอกจากแง่ความมั่นคงแล้ว ข้อตกลงของทั้งสองชาติยังมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญกับเกาหลีเหนือที่ถูกกดดันอย่างหนักด้วยมาตรการคว่ำบาตรจากเวทีนานาชาติ
ในแง่นี้ รัฐบาลเปียงยางอาจจะขอรับอาหาร สินค้า และปัจจัยทางอุตสาหกรรมของรัสเซีย แลกกับแรงงานจากเกาหลีเหนือ และแรงงานเหล่านั้นก็สามารถนำรายได้ที่เป็นสกุลเงินรูเบิล ไปแปลงเป็นเงินสกุลดอลลาร์หรือยูโรกลับคืนเกาหลีเหนือที่ขัดสนสกุลเงินที่มีความแข็งแรง
ปูตินระบุว่า การค้าระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นถึงเก้าเท่าในปีที่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่ายังอยู่ในระดับ “ปานกลาง”
- ที่มา: เอพี