สารพัดความท้าทาย ‘ริชี ซูนัค’ ผู้นำอังกฤษคนใหม่ 

APTOPIX Britain Politics

ขณะนี้ ริชี ซูนัค ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ยังไม่เปิดเผยมากนักถึงแผนบริหารประเทศ รวมถึงการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองอันหลากหลายที่อังกฤษเผชิญอยู่

รอยเตอร์รวบรวมความท้าทายต่าง ๆ ที่ซูนัคจะเผชิญ เมื่อเทียบกับนโยบายที่เขาเคยประกาศเมื่อครั้งลงชิงตำแหน่งผู้นำอังกฤษช่วงต้นปีที่ผ่านมาแต่ไม่สำเร็จ

ความท้าทายทางเศรษฐกิจ

อังกฤษกำลังเผชิญทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษพยายามคุมอัตราดอกเบี้ยที่แตะสองหลักขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและมีรายได้ที่แท้จริงลดลง

อังกฤษต้องฟื้นฟูความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับนานาชาติ หลังลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีที่กำลังจะออกจากตำแหน่ง ออกนโยบายลดภาษีโดยไม่มีงบสนับสนุน และการการันตีราคาพลังงานที่ใช้งบประมาณสูง จนส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรเมื่อเดือนที่แล้วจนธนาคารแห่งประเทศอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซง

ผู้นำคนใหม่ของอังกฤษอาจพิจารณาลดการใช้จ่ายของภาครัฐและเพิ่มภาษี เพื่อสร้างสมดุลให้กับงบประมาณรัฐที่ลดลงอย่างมากและได้รับผลกระทบจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ทั้งนี้ นายกฯ คนใหม่มีกำหนดแถลงงบประมาณในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษเผชิญแรงกดดันที่ต้องช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบปัญหาทางการเงิน ทั้งจากเงินกู้ซื้อบ้านที่สูงขึ้น บวกกับค่าอาหารและค่าพลังงานที่สูงขึ้น อันเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครนและปัจจัยอื่น ๆ จากทั่วโลก

นโยบายทางเศรษฐกิจ

ซูนัคระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ว่า อังกฤษได้เผชิญกับ “วิกฤตทางเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึก”

การบริหารของซูนัคขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีส่วนให้อังกฤษเผชิญภาระทางภาษีหนักที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เขายังกำหนดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็รับปากว่าจะเพิ่มระเบียบวินัยทางการเงินมากขึ้น

เขายังเคยวิจารณ์นโยบายลดภาษีของนายกฯ ทรัสส์ โดยระบุว่า เขาจะลดภาษีก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้แล้ว เขายังเคยเสนอแผนลดภาษีเงินได้จาก 20% ให้เหลือ 16% ภายในปี 2029

ซูนัคสนับสนุนความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ และเน้นย้ำว่า รัฐบาลต้องออกนโยบายเคียงคู่ไปกับธนาคารกลางเพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ ไม่ใช่ทำให้ภาวะดังกล่าวย่ำแย่ลง

Rishi Sunak infographic

ความท้าทายทางการเมือง

ความท้าทายแรก ๆ ที่ซูนัคจะเผชิญคือ เขาต้องควบคุมพรรคอนุรักษนิยม ที่แม้จะมีเสียงข้างมากในสภาแต่ก็มีความแตกแยกภายในจากประเด็นต่าง ๆ เช่น เบรกซิท ผู้อพยพ และการบริหารเศรษฐกิจ

สมาชิกพรรคบางส่วนมีแนวโน้มไม่เห็นด้วยอย่างมากต่อการเพิ่มภาษี ขณะที่สมาชิกอีกส่วนอาจไม่เห็นด้วยต่อการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในด้านที่สำคัญ เช่น สาธารณสุข การป้องกันประเทศ

การคว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคของซูนัคเป็นเพียงก้าวแรกของการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวภายในพรรค โดยหัวหน้าพรรคสองคนที่ผ่านมาถูกพรรคขับออกจากตำแหน่งเนื่องจากความเห็นต่างภายใน พรรคอนุรักษนิยมเองยังใช้เวลาหลายปีเพื่อโต้เถียงภายในพรรคเกี่ยวกับประเด็นเบรกซิท

ทั้งนี้ ซูนัคสนับสนุนเบรกซิทระหว่างการทำประชามติในประเด็นดังกล่าวเมื่อปี 2016 แต่สมาชิกพรรคฝ่ายขวาบางส่วนยังเห็นว่า ซูนัคมีแนวคิดเข้าข้างสหภาพยุโรป หรือ อียู เกินไป

หนึ่งในประเด็นหลักของเบรกซิทคือการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับไอร์แลนด์เหนือ ซูนัคจะเผชิญแรงกดดันในการปรับข้อตกลงออกจากอียูที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ เขายังจะเผชิญข้อเรียกร้องในการควบคุมผู้อพยพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาชิกสภาจากพรรคอนุรักษนิยมเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย

นโยบายการเมือง

ซูนัคระบุในแถลงการณ์ว่า เขาต้องการ “แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้พรรคเป็นหนึ่งเดียว และทำงานเพื่อประเทศของเรา”

ในประเด็นที่เกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนือ ซูนัคเคยระบุว่า เขาจะผลักดันกฎหมายที่ถูกออกแบบให้มีอำนาจภายในประเทศมากกว่าข้อตกลงเบรกซิท และในขณะเดียวกันก็จะเจรจากับอียูไปด้วย โดยร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณานี้ถูกอียูวิจารณ์อย่างหนัก

เมื่อเดือนสิงหาคม ซูนัคเคยระบุว่าจะทำให้ข้อตกลงเบรกซิท “เป็นไปอย่างปลอดภัย” และจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐเพื่อทบทวนกฎระเบียบของอียูที่เป็นไปในทางเดียวกับกฎหมายอังกฤษ

ในช่วงศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซูนัคกล่าวว่า เขาภูมิใจที่มาจากครอบครัวผู้อพยพ แต่เขาเชื่อว่าอังกฤษต้องควบคุมชายแดน และเชื่อว่ายังคงต้องดำเนินตามแผนส่งผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกลับไปยังรวันดา

ซูนัคยังไม่ยับยั้งแผนที่อังกฤษจะถอนตัวจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปด้วย

  • ที่มา: รอยเตอร์