Your browser doesn’t support HTML5
การศึกษาใหม่ ที่เปิดเผยรายละเอียดทางชีววิทยาของปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง ฉลามวาฬ พบว่า ฉลามวาฬเพศผู้จะเติบโตได้เร็วกว่า ขณะที่ฉลามวาฬเพศเมียจะเติบใหญ่กว่าหลายเท่า
ทีมวิจัยเฝ้าติดตามการเจริญเติบโตของฉลามวาฬ 54 ตัว ในระยะกว่า 10 ปี บริเวณ Ningaloo Reef ทางชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ฝูงปลายหายากจะแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนทุกๆปี
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการเติบโตของฉลามวาฬ พบว่า ฉลามวาฬจะเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่ออายุยังน้อย โดยมีลำตัวยาวขึ้นเฉลี่ย 20-30 เซนติเมตรต่อปี แต่ในการศึกษานี้เป็นการยืนยันครั้งแรกว่า ฉลามวาฬเพศผู้และเพศเมียเติบโตในอัตราเร่งที่ต่างกัน
ฉลามวาฬเพศผู้จะโตเร็วกว่ามาก โดยพบว่าพวกมันจะมีช่วงตัวยาวถึง 8 เมตรภายในช่วงอายุ 30 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับช่วงโตเต็มวัยพร้อมขยายพันธุ์ของพวกมัน
อีกด้านหนึ่งฝั่งฉลามวาฬเพศเมีย จะเติบโตและตัวใหญ่ได้ถึง 14 เมตร เมื่ออายุถึง 50 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์ของฉลามวาฬเพศเมีย
มาร์ค มีแกน นักชีววิทยาทางทะเล จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องการเติบโตของฉลามวาฬชิ้นนี้ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Marine Science อธิบายความแตกต่างนี้ว่า ฉลามวาฬเป็นสัตว์ที่มีความโดดเด่นมาก เพราะโดยธรรมชาติแล้วฉลามวาฬเพศเมียจะให้กำเนิดลูกฉลามวาฬครั้งละ 300 ตัว นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มันต้องมีโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อรองรับการให้กำเนิดลูกๆนับร้อยในเวลาเดียวกัน
ฉลามวาฬ เป็นสัตว์จำพวกปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เคยมีการค้นพบฉลามวาฬขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ลำตัวยาว 18 เมตร และพวกมันมีอายุยืนได้ถึง 100-150 ปี ตามธรรมชาติมันจะหากินด้วยการอ้าปากกรองแพลงตอนและสารอาหารในน้ำทะเล และมักพบพวกมันตามแหล่งน้ำไกลๆ เพื่อเสาะหาอาหารให้เพียงพอต่อขนาดตัวของมัน
นักชีววิทยาทางทะเล จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย ย้ำว่าการศึกษานี้มีความสำคัญ จากที่ฉลามวาฬต้องใช้เวลาถึง 30 ปีกว่าจะพร้อมสืบพันธุ์ ท่ามกลางความเสี่ยงที่พวกมันอาจถูกล่าหรือประสบอุบัติเหตุให้ต้องตายก่อนวัยเจริญพันธุ์ และปัจจุบันฉลามวาฬถูกขึ้นบัญชีฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในการอนุรักษ์พันธุ์ฉลามวาฬ ให้พวกมันได้มีโอกาสขยายพันธุ์ฉลามวาฬตัวน้อยในท้องทะเลสืบไป