นศ.ต่างชาติมีโอกาสอยู่ในอเมริกาเพื่อทำงานลดลง หลังสหรัฐฯคุมเข้มนโยบายผู้อพยพ

FILE - Students attend a new student orientation at the University of Texas at Dallas in Richardson, Texas, Aug. 22, 2015.

Your browser doesn’t support HTML5

นศ.ต่างชาติมีโอกาสอยู่ในอเมริกาเพื่อทำงานลดลง หลังสหรัฐฯคุมเข้มนโยบายผู้อพยพ

นโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดของสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย ที่ตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อแรงงานต่างชาติในระดับปัญญาชน ให้เข้ามาทำงานในอเมริกาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการส่งเสริมศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหรัฐฯในอนาคตอันใกล้ด้วย

สัญญาณหนึ่ง เห็นได้จากการศึกษาของ Pew Research ที่เปิดเผยว่า มีนักศึกษาต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Optional Practical Training หรือ OPT เมื่อปี 2017 อยู่ที่ 276,500 คน เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากปี 2016 ที่มีผู้ได้รับใบอนุญาต OPT นี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34

Optional Practical Training คือใบอนุญาตทำงาน ที่สหรัฐฯออกให้กับนักศึกษาต่างชาติ ในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้น ให้มีโอกาสทำงานในสหรัฐฯได้ เป็นเวลา 1 ปีหลังจากจบการศึกษาในสหรัฐฯ

ข้อมูลจาก Pew Research ระบุว่า ในปี 2017 นักศึกษาเกือบทุกประเทศที่ทำการสำรวจ ได้รับใบอนุญาต OPT เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เมื่อเทียบกับปี 2016 อย่างอินเดียที่เคยได้รับอนุมัติถึงร้อยละ 71 ในปี 2016 กลับเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 20 ในปี 2017 ไทยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 กลับลดลงร้อยละ 8 ในปี 2017 และจีนที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 มาในปี 2017 กลับเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1

ทั้งนี้ Pew Research มองว่า การยื่นขอและได้รับใบอนุญาติ OPT ที่ลดลงในช่วงปี 2017 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งนโยบาย Buy American, Hire American

ไม่เพียงแต่นโยบายผู้อพยพเท่านั้น เพราะประเด็นความขัดแย้งเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี ระหว่างสหรัฐฯและจีน ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ส่งผลกระทบต่อแรงงานต่างชาติในระดับปัญญาชน โดยเฉพาะนักศึกษาจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้ามองในแง่ของปริมาณ จะพบว่าจีนมีนักศึกษาที่ได้รับอนุมัติลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2017

The New York Times ระบุว่า เมื่อ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้จำกัดวีซ่าสำหรับนักเรียนจีนที่ศึกษาวิจัยในภาควิชาที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ให้เหลือเพียง 1 ปี และต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อต่อวีซ่าเข้าสหรัฐฯอีกครั้ง ซึ่งมีขั้นตอนการพิจารณาที่ซับซ้อนขึ้น โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง จากเดิมที่วีซ่านักเรียนจะอนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าดังกล่าวพำนักอยู่ในสหรัฐฯได้ 5 ปี

ข้อมูลจาก National Intelligence Council ที่อ้างว่าปัญญาชนกลุ่มนี้จะนำองค์ความรู้ที่ได้กลับไปบ้านเกิด แต่ข้อมูลจาก National Science Foundation ระบุว่า ในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2005-2015 พบว่า 9 ใน 10 ของนักศึกษาจีนในระดับปริญญาเอกเลือกที่จะอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ต่อไป

เมื่อมีอุปสรรคในการขอวีซ่าของนักศึกษาต่างชาติเหล่านี้ ทำให้นักวิชาการหลายท่านเห็นว่า นโยบายผู้อพยพ การจ้างงาน และการป้องกันการถ่ายโอนเทคโนโลยี อาจไม่ส่งผลดีต่อสหรัฐฯอย่างที่ควรจะเป็น ในเรื่องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านองค์ความรู้และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

The New York Times ได้สอบถามนักวิชาการสหรัฐฯหลายราย อย่างโยลันดา กิล (Yolanda Gil) อำนวยการด้านองค์ความรู้เทคโนโลยี จากสถาบันวิทยาศาสตร์ ของ University of Southern California มองว่า นี่อาจเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในหลายด้าน โดยนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักเรียนจีน คือ แหล่งความรู้และนวัตกรรมให้กับสหรัฐฯ โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนี้ นักศึกษาต่างชาติยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของสถาบันการศึกษาในอเมริกา โดยเมื่อปี 2016 นักศึกษาต่างชาติมากกว่า 1 ล้านคนในอเมริกา สร้างรายได้ 39,000 ล้านดอลลาร์ให้กับเศรษฐกิจอเมริกัน และ 1 ใน 3 นั้นมาจากนักศึกษาจีน

ขณะที่ริชาร์ด เอ็ม วอยเลส (Richard M. Voyles) ผู้อำนวยการ Purdue Robotics Accelerator มองว่า จากบรรยากาศรวมทั้งนโยบายต่างๆนี้ อาจทำให้ การส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ที่กำลังเป็นที่ต้องการของสหรัฐฯนั้น อาจชะงักงันไปได้ เพราะการเฟ้นหานักศึกษาที่ “ได้มาตรฐาน” ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายกับทีมวิจัยสหรัฐฯมาก เพราะเป็นเรื่องยากในการหานักศึกษาอเมริกันที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในด้านนี้

เช่นเดียวกับมุมมองของ หยางหยาง เฉิง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell) ที่มองว่าการเหมารวมว่านักวิจัยจีนที่เข้ามาศึกษาในอเมริกานั้นจะนำองค์ความรู้กลับไปบ้านเกิด ถือเป็นมุมมองที่ทำร้ายตัวเอง เพราะจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดความทะเยอทะยานที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและศักยภาพด้านการทหารของจีนมากขึ้นไปอีก