Your browser doesn’t support HTML5
เจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนของเวียดนามเตือนว่า ระดับมลพิษทางอากาศในกรุงฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ อาจจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปเทียบเท่ากับที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งของจีน
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ ADB ได้เตือนว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม ได้ส่งผลให้มลภาวะทางสิ่งเเวดล้อม ทั้งดิน น้ำและอากาศ ทวีความรุนแรงขึ้น
ในการศึกษาปัญหาสิ่งเเวดล้อมในเวียดนามจากปี ค.ศ 2011 ถึง 2015 กระทรวงสิ่งเเวดล้อมเวียดนามเปิดเผยว่า ระดับคุณภาพอากาศได้ย่ำแย่ลงในเขตเมืองหลายเมือง โดยเฉพาะในกรุงฮานอย และเมืองฮาลอง เช่นเดียวกับเมืองโฮจิมินห์ซิตี้
ความกังวลหลักคือการเพิ่มขึ้นของปริมาณเเก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
ในกรุงฮานอย ปริมาณของเเก๊สชนิดนี้เพิ่มขึ้นไปสูงกว่าปริมาณที่ได้รับอนุญาตถึง 1.3 เท่าตัว และในเมืองฮาลอง ระดับ NO2 เพิ่มสูงกว่าระดับมาตรฐาน 1.2 เท่าตัว ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ เมืองใหญ่ทางเศรษฐกิจทางใต้ของประเทศ ระดับเเก๊ส NO2 อยู่สูงกว่าระดับที่ได้รับอนุญาตถึง 2 เท่าตัว
เเก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์มีผลเสียต่อสุขภาพของเด็กและผู้สูงวัย เพราะปอดที่อ่อนแอกว่าผู้ใหญ่ทั่วไปทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจชนิดต่างๆ
Hoang Duong Tung รองผู้อำนวยการผ่ายจัดการด้านสิ่งเเวดล้อมแห่งเวียดนาม กล่าวกับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่า การจราจรที่คับคั่งและกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรม เป็นสาเหตุหลักให้เกิดมลภาวะทางอากาศในกรุงฮานอย และเมืองโฮจิมินห์ซิตี้
ส่วนในเมืองฮาลอง สาเหตุหลักมาจากการทำเหมืองถ่านหินและโรงงานไฟฟ้า
เศรษฐกิจที่ดีขึ้นในเวียดนามทำให้คนเวียดนามมีกำลังซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาขับขี่กันมากขึ้น ตำรวจจราจรในกรุงฮานอยรายงานว่า มียวดยานส่วนตัวรายใหม่ลงทะเบียนโดยเฉลี่ย 19,000 คันต่อเดือน
รายงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับชาติประจำปี 2013 พบว่า ระดับมลพิษทางอากาศในกรุงฮานอย ย่ำเเย่ลงจากระดับที่ถือว่าไม่ดีต่อสุขภาพ ไปอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย 265 วันต่อหนึ่งปี
Hoang กล่าวว่า หากเวียดนามยังไม่ลุกขึ้นมาเเก้ปัญหา ก็เป็นไปได้ว่ากรุงฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ จะกลายเป็นเมืองที่มีระดับมลพิษทางอากาศเลวร้ายเท่ากับกรุงปักกิ่งของจีนในอนาคตอันใกล้
มลภาวะทางสิ่งเเวดล้อมเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในเวียดนามเเล้ว
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บรรดาชาวประมงในเวียดนามออกมาชุมนุมประท้วงด้วยความโกรธ หลังจากมีปลาตายกว่า 100 ตัน ตามเเนวชาวฝั่งทะเลในสี่จังหวัดตอนกลางของประเทศ
จากการสอบสวนสาเหตุการตายของปลา พบว่าโรงงานผลิตเหล็กกล้าของบริษัทไต้หวัน Formosa Ha Tinh เป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะได้ระบายน้ำเสียที่เป็นพิษลงในแหล่งน้ำ
และต่อมาในเดือนมิถุนายน ทางบริษัทได้ยอมรับความรับผิดชอบทั้งหมด และสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายมูลค่า 500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม Nguyen Xuan Phuc ได้ประกาศคำสั่งของทางการเมื่อเร็วๆ นี้ให้บริษัทไต้หวันดังกล่าว จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม โดยทางการเวียดนามชี้ว่า ผู้เสียหายเริ่มได้รับค่าชดเชยกันเเล้วในเดือนนี้ โดยได้รับกันตั้งเเต่คนละ 130 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ถึง 1,600 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
Jonathan London อาจารย์สอนด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก ที่มหาวิทยาลัย Leiden ในเนเธอร์เเลนด์ กล่าวว่า การส่งเสริมเศรษฐกิจและการลงทุนที่เปิดเสรีของเวียดนาม สร้างความกังวลในเรื่องผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อมที่ตามมา
London กล่าวว่าผลลัพท์ของยุทธศาสตร์นี้ไม่ใช่ความสำเร็จเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อมาถึงประเด็นการปกป้องสิ่งเเวดล้อม เขายกตัวอย่างโรงงาน Formosa Ha Tinh ของไต้หวันที่ระบายน้ำเสียที่เป็นพิษลงในเเหล่งน้ำจนทำให้ปลาตายจำนวนมาก
Xavier Depouilly ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Indochina Research กล่าวว่า มลภาวะทางสิ่งเเวดล้อมที่เลวร้ายลงในเวียดนามนี้ เป็นเพียงเเค่หนึ่งในปัญหาหลายๆ อย่างที่รัฐบาลเวียดนามกำลังประสบ
อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามยังเป็นไปในทางบวกสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ประมาณว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะลดลงจาก 6.7 เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ. 2015 มาอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และน่าจะกระเตื้องขึ้นไปอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า
ทางการเวียดนามชี้ว่า ในปี 2015 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนาม เพิ่มขึ้น 12.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 22,800 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และในอีกหลายปีต่อจากนี้ คาดว่าจะมีการลงทุนมากขึ้นจากจีน เพราะนักลงทุนต่างมองหาทางเลือกฐานการผลิตที่ถูกกว่าจีน
บรรดานักลงทุนต่างชาติใหญ่ๆ เหล่านี้มาจาก เกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ และไต้หวัน
(รายงานโดย Ron Corben / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)