Your browser doesn’t support HTML5
ในลำไส้ของคนเรานั้นเต็มไปด้วยแบคทีเรีย ซึ่งช่วยในการย่อยอาหารที่ทานเข้าไป ล่าสุดนักวิจัยอเมริกันค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างแบคทีเรียในลำไส้กับประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งการค้นพบครั้งนี้อาจส่งผลต่อวิธีการให้วัคซีนในอนาคต
ในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแทพย์ Immunity คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Emory ในนครแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย ได้พยายามศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียในลำไส้กับวัคซีน นักวิจัยใช้วิธีทดลองด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับหนูทดลอง โดยหนูทดลองบางตัวได้รับยาต้านเชื้อโรคหรือ antibiotic เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ด้วย
ศาสตราจารย์ Bali Pulendran ผู้นำคณะนักวิจัยชุดนี้ ระบุว่าสิ่งที่พบคือหนูทดลองที่ได้รับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีระดับการตอบสนองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่หนูทดลองที่มีแบคทีเรียในลำไส้ในระดับปกติ ดูเหมือนจะสามารถเพิ่มการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ดีกว่า พูดง่ายๆ คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อไวรัสได้ดีกว่าเมื่อมีแบคทีเรียอยู่ในลำไส้ด้วย
นักวิจัยยังพบด้วยว่า ไม่ใช่แค่วัคซีนไข้หวัดใหญ่เท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ แต่ยังใช้ได้กับวัคซีนโรคโปลิโอด้วย อย่างไรก็ตามกลับไม่พบความแตกต่างในวัคซีนประเภทอื่น เช่นวัคซีนโรคไข้เหลือง หรือวัคซีนที่มีส่วนประกอบของสารเร่งการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ถึงกระนั้นนักวิจัยยังต้องศึกษาและทำการทดลองต่อไปว่าการค้นพบครั้งนี้มีผลกับมนุษย์หรือไม่ และหากพบว่ามีผลกับมนุษย์ในลักษณะเดียวกับที่พบในหนูทดลอง ก็อาจนำไปสู่การค้นพบในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ เช่น การค้นพบว่าแบคทีเรียในลำไส้คนเรานั้นอาจมีจำนวนแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิศาสตร์
แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยทราบแน่ๆ คือ จำนวนแบคทีเรียมีความแตกต่างกันตามอายุของคนเรา กล่าวคือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบยังคงอยู่ในช่วงของการสร้างแบคทีเรียในลำไส้ขึ้นมา ซึ่งในช่วงสองขวบแรกของชีวิตนี้เป็นช่วงเดียวกับที่เด็กได้รับวัคซีนต่างๆ มากกว่าช่วงวัยอื่นๆ
ดังนั้นนักวิจัยชุดนี้จึงเชื่อว่า หากผลการทดลองกับมนุษย์พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนมีความสัมพันธ์กับแบคทีเรียในลำไส้จริง อาจส่งผลต่อแนวทางการให้วัคซีนในอนาคต ว่าควรให้อย่างไร และให้ในช่วงวัยใดจึงจะดีที่สุด
รายงานจาก Art Chimes ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล