แพทย์ในสหรัฐเริ่มใช้การ์ตูนและนิยายเเนวกราฟฟิกเป็นสื่อสอนผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคและการรักษากันมากขึ้นหลังจากผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการ์ตูนช่วยให้เด็กกลัวน้อยลงเวลาไปพบแพทย์
ในการ์ตูนอานิเมชั่นเรื่อง The Iggy and The Inhalers นี้ยาบำบัดหืดหอบเป็นพระเอก ส่วนโรคหอบหืดเป็นตัวผู้ร้าย กุมารเเพทย์ Alex Thomas ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ในเด็กแห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin ใช้การ์ตูนอานิเมชั่นเรื่องนี้และอีกหลายๆ เรื่องที่เขาและเพื่อนร่วมงานผลิตขึ้นเพื่อฉายให้ผู้ป่วยเด็กที่เป็นหอบหืดชม
กุมารเเพทย์ Alex Thomas กล่าวว่าเขาเสริมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้าไปในการ์ตูนที่คิดค้นขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโรคและตัวโรคที่ทำให้เด็กป่วยไปในตัวในขณะที่ได้เพลิดเพลินกับเรื่องราวในการ์ตูน ทำให้เข้าใจถึงการใช้ยาอย่างถูกต้อง
แม้จะยังไม่มีตัวเลขทางสถิติที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของการใช้การ์ตูนเป็นสื่อที่ให้ความรู้เเก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคและการรักษา กุมารเเพทย์ Alex Thomas กล่าวว่าการทดสอบที่เขาจัดทำขึ้นชี้ว่ามีผลดี เขากล่าวว่าก่อนหน้าที่จะเริ่มใช้การ์ตูนเป็นสื่อสอนผู้ป่วยเด็กที่เป็นหอบหืด มีเด็กแค่สิบแปดเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เข้าใจวิธีการใช้ยาพ่นขยายหลอดลม แต่หลังจากเริ่มใช้การ์ตูนสอนเด็ก จำนวนเด็กที่เข้าใจการใช้ยาเพิ่มเป็นหกสิบเเปดเปอร์เซ็นต์
การใช้การ์ตูนเป็นสื่อสอนผู้ป่วยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในผู้ป่วยเด็กเท่านั้น คุณ Brian Kloss ผู้เชี่ยวชาญการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินแห่งที่มหาวิทยาลัย SUNY Upstate Medical University ในรัฐ New York ได้ตีพิมพ์หนังสือ Toxicology in a Box ซึ่งรวมเอาแฟลชการ์ด 150 ใบเพื่อใช้สอนนักศึกษาเเพทย์เกี่ยวกับการวินิจฉัยเเละบำบัดการใช้ยาเกินขนาดเเละอาการป่วยจากพิษของยาและสารเคมี
เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าข้อมูลทางการเพทย์ทุกประเภทสามารถเเปลงเป็นเรื่องราวในหนังสือการ์ตูนได้ การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของการ์ตูนช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจเรียนรู้เร็วขึ้นเเละเข้าใจดีขึ้น
การประชุมเรื่องการ์ตูนกับการแพทย์ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในรัฐเเมรี่เเลนด์ยังรวมเอาการสัมนาเชิงปฏิบัติที่แพทย์ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้การใช้การ์ตูนเป็นสื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและแพทย์ยังได้เรียนการวาดการ์ตูนด้วย
นายแพทย์ Michael Green แพทย์อายุรกรรมกล่าวว่าตนใช้การ์ตูนในการสอนนักศึกษาแพทย์เพื่อช่วยให้เเพทย์เข้าใจประสบการณ์จากการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและช่วยให้เข้าใจข้อมูลการแพทย์ที่ซับซ้อน
นอกจากนี้ มีหนังสือเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับอาการป่วยที่ใช้การ์ตูนเป็นเเนวการนำเสนอเพิ่มมากขึ้น อย่างหนังสือเรื่อง Marbles ที่ติดอันดับ bestseller ของ New York Times คุณ Ellen Forney ผู้เขียนได้เขียนเล่าประสบการณ์จากการป่วยด้วยโรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพล่าของตนไว้ในหนังสือเล่มนี้และเธอเป็นหนึ่งในผู้ปาฐกถาพิเศษในงานประชุม
เธอกล่าวว่าการ์ตูนเป็นสื่อที่มีพลังมากในการนำเสนอเรื่องราวส่วนตัวที่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจง การใช้ทั้งคำและภาพประกอบ ช่วยเเสดงทั้งอารมณ์และความรู้สึกในเนื้อเรื่องได้อย่างดี
แม้ว่าการ์ตูนยังมีส่วนเพียงน้อยนิดในทางการแพทย์ขณะนี้ บรรดาเเพทย์ที่ใช้การ์ตูนเป็นสื่อในการรักษาผู้ป่วยชี้ว่าการ์ตูนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย