สหรัฐฯ เตรียมขยายอิทธิพลทางทหารไปยังขั้วโลกเหนือ เพื่อคานอำนาจจีน-รัสเซีย

U.S. Secretary of State Mike Pompeo speaks on Arctic policy at the Lappi Areena in Rovaniemi, Finland, May 6, 2019.

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ กล่าวในวันจันทร์ว่า สหรัฐฯ กำลังจะขยายอิทธิพลทางทหารไปยังขั้วโลกเหนือ โดยมีเป้าหมายเพื่อต้านทานอำนาจของจีนและรัสเซียในภูมิภาคดังกล่าว

รมต.พอมเพโอ กล่าวระหว่างเดินทางถึงฟินแลนด์เพื่อร่วมประชุมสภาอาร์คติกว่า สหรัฐฯ จะจัดการซ้อมรบและเพิ่มการประจำการของกองกำลังทหารอเมริกัน ฟื้นฟูกองเรือฝ่าน้ำแข็ง เพิ่มงบประมาณสำหรับกองกำลังรักษาการณ์ชายฝั่ง และจัดตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารตำแหน่งใหม่ที่รับผิดชอบกิจการด้านขั้วโลกเหนือโดยเฉพาะ

รมต.พอมเพโอ ระบุว่า "ขั้วโลกเหนือกำลังกลายเป็นดินแดนแห่งการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจของโลก"

คำเตือนของ รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากที่มีรายงานจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่าจีนกำลังขยายอิทธิพลทางทหารเข้าไปในแถบขั้วโลกเหนือ

และในวันจันทร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงตอบโต้ว่าจีนยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาอย่างสันติ และขอให้สหรัฐฯ หยุดใช้แนวทางจิตวิทยาจากยุคสงครามเย็นที่ล้าสมัย และการแข่งขันที่ต้องมีแพ้-ชนะ

FILE - Russian, Chinese and Mongolian national flags set on armored vehicles develop in the wind during a military exercises on training ground "Tsugol, south-east of the city of Chita during the military exercises Vostok 2018 in Eastern Siberia, Russia,

เมื่อเดือนที่แล้ว รัสเซียประกาศแผนที่จะเชื่อมต่อเส้นทางในทะเลเหนือเข้ากับโครงการ "ถนนสายไหมยุคใหม่" ของจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าใหม่จากระหว่างเอเชียกับยุโรป

ขณะเดียวกัน จีนแสดงความสนใจในภูมิภาคขั้วโลกเหนือมานานหลายปีแล้ว โดยมีนโยบายสร้าง "ทางสายไหมขั้วโลก" ด้วยการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านบริเวณนี้

อย่างไรก็ตาม รมต.พอมเพโอกล่าวที่ฟินแลนด์ในวันจันทร์ เตือนถึงความทะเยอทะยานของจีน พร้อมบอกว่าประเทศที่ไม่ใช่ "ประเทศแถบขั้วโลกเหนือ" หรือ non-Arctic States นั้นไม่มีสิทธิก้าวก่ายแทรกแซงในภูมิภาคนี้

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาร์คติก หรือที่ รมต.พอมเพโอ ระบุว่าเป็น Arctic states ประกอบด้วย 8 ประเทศ คือ สหรัฐฯ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และรัสเซีย

แต่เจ้าหน้าที่จีนที่ร่วมสังเกตุการณ์การประชุมที่ฟินแลนด์ครั้งนี้ ระบุว่าจีนคือ near-Arctic state หรือประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ ซึ่งสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ยอมรับคำจำกัดความดังกล่าว