รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คามาลา แฮร์ริส เดินทางถึงประเทศไทยในวันพฤหัสบดี เพื่อร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) ในวันศุกร์และเสาร์นี้ แทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ติดภารกิจทางครอบครัว
คาดว่า รองปธน.แฮร์ริส และบรรดาผู้นำเอเปคจะหารือกันเรื่องผลกระทบจากสงครามในยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาขาดแคลนอาหารและพลังงาน
โดยรองปธน.สหรัฐฯ มีแผนจะรับรองความมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเวทีเอเปค และหารือในประเด็นเมียนมาและข้อพิพาททะเลจีนใต้
SEE ALSO: สายตาทุกคู่จับจ้อง ‘สี จิ้นผิง’ เมื่อเวทีเอเปค 2022 ไร้เงาผู้นำสหรัฐฯ-รัสเซียรองปธน.แฮร์ริส จะขึ้นกล่าวในเวทีประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ที่กรุงเทพมหานคร และจะหารือในประเด็นเมียนมากับบรรดาผู้นำในเวทีเอเปคที่ประเทศไทย โดยจะพบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ในหลายประเด็นตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการสหรัฐฯ
คามาลา แฮร์ริส ยังจะประชุมร่วมกับบรรดานักรณรงค์และผู้นำธุรกิจเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนและความร่วมมือแถบลุ่มน้ำโขง
หลังจากเวทีเอเปคที่ประเทศไทย รองปธน.แฮร์ริส จะเดินทางเยือนฟิลิปปินส์ ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลมะนิลากับรัฐบาลปักกิ่งในประเด็นทะเลจีนใต้ โดยรองปธน.แฮร์ริส มีกำหนดหารือกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ และรองประธานาธิบดีซาร่า ดูเตรเต้ บุตรสาวของอดีตปธน.ฟิลิปปินส์ ในวันจันทร์หน้า
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ชี้ว่า การเยือนเอเชียของประธานาธิบดีไบเดน และรองประธานาธิบดีแฮร์ริสครั้งนี้ คือการแสดงให้เห็นถึงความมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งของอเมริกาในภูมิภาคนี้ และถือเป็นพันธมิตรที่พึ่งพาได้
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ปธน.ไบเดน ได้หารือเป็นเวลาสามชั่วโมงกับปธน.จีน สี จิ้นผิง นอกรอบจากการประชุม จี-20 ที่อินโดนีเซีย โดยมีความพยายามขจัดความแตกต่างของสองมหาอำนาจนี้ในหลายด้าน รวมทั้งในกรณีที่เกี่ยวกับไต้หวัน และยังมีความเห็นร่วมกันในการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครนด้วย
- ที่มา: เอพี