วัคซีนโควิด 580 ล้านโดสที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าบริจาค ไปอยู่ที่ไหนบ้าง?

A Moderna vaccine shipment donated by the U.S. arrives in Vietnam, Saturday, July 10, 2021.

ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯ ได้พลิกมาเป็นประเทศที่มียอดผู้ได้รับวัคซีนครบโดสเเซงหน้าหลายประเทศ โดยมีผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วคิดเป็น 48.2 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด นอกจากการพุ่งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนของตนเองแล้ว สหรัฐฯ ยังเดินหน้า “การทูตวัคซีน” โดยประกาศบริจาควัคซีน 580 ล้านโดสไปทั่วโลก ตามรายงานของวีโอเอ

สหรัฐฯ เป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตวัคซีนหลายเจ้า เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ตั้งเป้าบริจาควัคซีนอย่างน้อย 580 ล้านโดสไปทั่วโลก โดยทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐฯ ตั้งเป้าบริจาควัคซีนของไฟเซอร์ 500 ล้านโดส ให้ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 92 ประเทศ รวมถึงประเทศในสหภาพแอฟริกา โดยจะบริจาค 200 ล้านโดสแรกภายในสิ้นปีนี้ และอีก 300 ล้านโดสภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า

ทำเนียบขาวยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ ยังมีเป้าหมายเร่งด่วนในการบริจาควัคซีนให้ได้ 80 ล้านโดสภายในเดือนมิถุนายน โดยบริจาควัคซีน 75 เปอร์เซ็นต์ผ่านทางโครงการแจกจ่ายวัคซีนขององค์การอนามัยโลก หรือ โคแวกซ์ (COVAX) และอีก 25 เปอร์เซ็นต์ ให้ประเทศต่างๆ โดยตรง

White House press secretary Jen Psaki speaks during the daily briefing at the White House in Washington, Friday, July 9, 2021. (AP Photo/Susan Walsh)


อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ บริจาควัคซีนได้จริงเพียงราวครึ่งหนึ่งของเป้าที่ตั้งไว้ โดยเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว บอกกับทางวีโอเอว่า สหรัฐฯ ต้องส่งมอบวัคซีนโดยคำนึงถึงกำแพงทางกฎหมายและกฎระเบียบ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงด้วยว่าประเทศที่ได้รับวัคซีนมีความพร้อมในการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนหรือไม่ เช่น มีอุปกรณ์ฉีดวัคซีนพร้อมหรือไม่ หรือมีขั้นตอนการเก็บรักษาวัคซีนโดยเครื่องเก็บที่อุณหภูมิต่ำที่ดีพอหรือไม่ ซึ่งวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA จะต้องเก็บในอุณหภูมิเย็นจัด ซึ่งบางประเทศมีตู้เย็นที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเก็บวัคซีนได้

สำหรับประเทศที่ได้รับวัคซีนจนถึงขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น บังกลาเทศและปากีสถาน โดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ระบุว่า ทั้งสองประเทศได้รับวัคซีนประเทศละ 2.5 ล้านโดสจากสหรัฐฯ ผ่านทางโครงการโคแวกซ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม โดยทั้งสองประเทศเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ได้รับวัคซีนผ่านช่องทางดังกล่าว โดยภูมิภาคที่มีประชากรราว 2 พันล้านคนนี้ มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 30 ล้านคน นับจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มจากเมื่อปลายเดือนเมษายนถึง 9.5 ล้านคน

อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อัฟกานิสถานยังได้รับวัคซีน 1.4 ล้านโดสจากสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งถือเป็นวัคซีนชุดแรกที่อัฟกานิสถานได้รับ ในขณะที่ยูนิเซฟระบุว่า อัฟกานิสถานจะได้รับวัคซีนทั้งหมด 3.3 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนชุดนี้มาถึงอัฟกานิสถานในช่วงที่กองทัพสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานหลังทำสงครามมา 20 ปี

ทางด้านเม็กซิโก ได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จากสหรัฐฯ เป็นจำนวน 1.35 ล้านโดส เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ตามรายงานข่าวของวีโอเอ โดยมีการแจกจ่ายวัคซีนให้เมืองตามชายแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโก สี่เมือง เพื่อส้รางภูมิคุ้มกันหมู่และยุติการจำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็นตามชายแดน

FedEx Delivers 1.35 Million COVID-19 Vaccine Doses to Mexico Shipment marks the first delivery of COVID-19 vaccines from the U.S. to Mexico by FedEx for Direct Relief.

ไต้หวันได้รับวัคซีนจากสหรัฐฯ 2.5 ล้านโดส เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าที่สหรัฐฯ เคยระบุว่าจะให้ไต้หวันถึงกว่าสามเท่า โดยก่อนหน้่านี้ ไต้หวันกล่าวหาว่าจีนกดดันไม่ให้เจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทไบโอเอ็นเทคสำเร็จ โดยจีนปฏิเสธข้อหาดังกล่าว ในขณะที่เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทวีตข้อความว่า สหรัฐฯ ไม่ได้แบ่งปันวัคซีนบนเงื่อนไขทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ และมีจุดประสงค์ประการเดียวเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์เท่านั้น

ทางด้านไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับมอบวัคซีนบริจาคจากสหรัฐฯ โดยนายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ​ทางการไทยได้ขอรับการจัดสรรวัคซีนกับนางเวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ขณะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเร่งมอบวัคซีน 80 ล้านโดสทั่วโลกแล้ว กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ประสานกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เพื่อเตรียมรับมอบวัคซีน ต่อมาในวันที่ 6 กรกฎาคม คณะรัฐมนตรีไทยเห็นชอบให้ทำความตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อรับมอบวัคซีน ในขณะที่ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ระบุว่า ข้อตกลองมอบวัคซีนนี้เป็นข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีคนกลางในการเจรจา

ทั้งนี้ ทางการไทยยังไม่ยืนยันจำนวนวัคซีนที่สหรัฐฯ จะมอบให้อย่างเป็นทางการ


(หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์ ยูนิเซฟ และทำเนียบขาว)

us vaccine distribution infographic