Your browser doesn’t support HTML5
ค่านิยมเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันในหมู่นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ทั้งแข่งสอบให้ได้คะแนนสูงๆ แข่งร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียน และแข่งหาทักษะใหม่เสริมความพร้อมเข้ารั้วสถาบันอุดมศึกษา
เมื่อนักเรียนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังแล้ว หลายคนจึงรู้สึกหมดไฟ
แต่ในทางกลับกัน บางคนติดนิสัยการแข่งขันเข้าไปเรียนต่อด้วยและบางครั้งทำให้บั่นทอนบรรยากาศของการร่วมกันเรียนรู้
ขณะนี้จึงเกิดโครงการที่นักการศึกษาต้องเปลี่ยนกระแสพฤติกรรมดังกล่าว
ตัวแทนฝ่ายรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยของสถาบัน 175 แห่งทั่วสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึง สถาบันอันดับต้นๆ อย่าง Harvard, Yale, Princeton รวมพลังภายใต้โครงการ “Turning the Tide” เพื่อเปลี่ยนกระแสค่านิยมการวัดความสำเร็จ ซึ่งต้องการสร้างจิตสำนึกต่อสังคมมากขึ้นในหมู่นักเรียนนักศึกษา
ประเด็นที่ถูกย้ำถึง คือการอื้ออาทรต่อผู้อื่น การเข้าใจความทุกข์ร้อนของเพื่อนร่วมชุมชน และแสดงน้ำใจต่อคนเหล่านั้น
มหาวิทยาลัย Harvard มีโครงการของตนเองที่ชื่อ Making Care Common ซึ่งต้องการสื่อให้นักศึกษาเห็นว่า การคิดทำดีต่อคนอื่นเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ
Trisha Ross-Anderson ที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว บอกว่า การสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเป็นโอกาสที่ดีที่จะพิจารณาถึงความเข้ากับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่แตกต่างกับเรา
เธอบอกว่าความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นถูกมองข้ามให้เป็นเรื่องรองๆก่อนหน้านี้ แต่อันที่จริงควรได้รับความสนใจอันดับต้นๆ
ขณะเดียวกัน Ann McDermott จากมหาวิทยาลัย Holy Cross ในรัฐแมสซาชูเสทส์ กล่าวว่า จิตใจที่ดี และการเอื้ออาทรต่อผู้อื่นช่วยให้เกิดบรรยากาศที่ดีในชุมชนนักเรียนมหาวิทยาลัย
นอกจากนั้น ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่เมืองบัลติมอร์ของรัฐแมรี่แลนด์ การคัดนักเรียนเข้าคณะแพทยศาสตร์ มีรอบสัมภาษณ์ที่ผู้ต้องการเข้าเรียนจะถูกวัดพฤติกรรมที่ส่งสัญญาณถึงการปฏิบัติต่อผู้อื่น หากได้รับการตอบรับเป็นนักศึกษาแพทย์ด้วย
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Max Cotton)