Your browser doesn’t support HTML5
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลอเมริกันจะถอนตัวออกจากองค์การยูเนสโกที่เป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ และทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและสันติภาพ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม
โฆษกกระทรวงต่างประเทศ เฮเธอร์ นูเอิร์ต กล่าวว่าการตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสหรัฐฯ แต่อเมริกาต้องการส่งสัญญาณถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่ยูเนสโก ทั้งปัญหาการเงิน และการบริหารจัดการที่ควรเกิดการปฏิรูป
เฮเธอร์ นูเอิร์ต ระบุว่าเหตุผลอีกประการหนึ่งคือมีกระแสต่อต้านชาวยิวและอิสราเอลภายในองค์การยูเนสโก
การถอนตัวของสหรัฐฯ จะมีผลวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้
เลขาธิการใหญ่ยูเนสโก Irina Bokova กล่าวถึงความสำคัญของสหรัฐฯ ต่อยูเนสโกว่า สหรัฐฯ และยูเนสโกมีความสำคัญซึ่งกันและกัน และถ้ามองกลับไปในอดีตก็จะพบว่า นอกจากสหรัฐฯ จะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การแห่งนี้แล้ว ค่านิยมของสหรัฐฯ ยังตรงกับยูเนสโก
Irina Bokova กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างมากที่ที่ได้รับจดหมายจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรื่องการถอนตัวของอเมริกาออกจากยูเนสโก
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ลดการให้เงินสนับสนุนก้อนใหญ่ต่อยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ. 2011 เพื่อประท้วงการตัดสินใจของยูเนสโกที่ให้สถานะสมาชิกอย่างสมบูรณ์ต่อปาเลสไตน์
และหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศออกจากการเป็นสมาชิกยูเนสโกแล้ว รัฐบาลอิสราเอลเตรียมดำเนินแนวทางเดียวกัน
ย้อยไปในสมัยประธานาธิบดี Ronald Reagan ของสหรัฐฯ ปี ค.ศ. 1984 ทางการอเมริกันประกาศออกจากการเป็นสมาชิกยูเนสโกเช่นกัน เนื่องจากไม่พอใจการบริหารการเงินของยูเนสโกและอคติต่อนโยบายสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามส หรัฐฯ กลับมาเป็นสมาชิกยูเนสโกอีกครั้งในปี ค.ศ. 2002 ช่วงประธานาธิบดี George W. Bush
องค์การยูเนสโก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 71 ปีก่อน โดยมีหน้าที่สำคัญในการประกาศสถานที่เพื่อการอนุรักษ์เป็นมรดกโลก
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงรายงาน)