จีนตอบโต้อย่างไม่พอใจต่อข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษ ที่จะช่วยออสเตรเลียพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคีซึ่งมุ่งเน้นที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศความตกลงดังกล่าวในวันพุธที่ทำเนียบขาว โดยระบุว่า "เราจำเป็นต้องสามารถจัดการสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต" และว่า อนาคตของโลกและประเทศต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความเสรีและเปิดกว้างของอินโด-แปซิฟิก ในช่วงหลายทศวรรษจากนี้
ทางด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จ้าว หลี่เจียน แถลงข่าวในวันพฤหัสบดีว่า ข้อตกลงระหว่างสามประเทศกำลังบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ พร้อมทั้งกล่าวหาว่า ทั้งสามประเทศมีพฤติกรรมที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างรุนแรง และขอให้ยุติแนวคิดจากยุคสงครามเย็นนี้เสีย
SEE ALSO: สหรัฐฯ-จีน กับ ศึกสร้างพันธมิตรในเอเชียที่ร้อนแรงขึ้น
ทั้งนี้ สนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคีที่จัดทำขึ้นใหม่ระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย จะใช้ชื่อว่า AUKUS
ปธน.ไบเดน พร้อมกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สก็อตต์ มอร์ริสัน เน้นย้ำว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียจะไม่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์
นายกฯ มอร์ริสัน กล่าวว่า ออสเตรเลียมิได้พยายามมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือกำลังพัฒนาศักยภาพทางนิวเคลียร์แต่อย่างใด และจะเดินหน้าตามคำมั่นว่าด้วยการลดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกด้วย
ด้านนายกฯ จอห์นสัน กล่าวว่า อังกฤษจะรับบทบาทสำคัญในการแบ่งปันความรู้กับออสเตรเลีย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของอังกฤษจากการมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกตั้งแต่ 60 ปีก่อน
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวก่อนการประกาศข้อตกลงครั้งนี้ว่า ทั้งสามประเทศมีเวลา 18 เดือนในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเรือดำน้ำดังกล่าว ผ่านการแบ่งปันข้อมูลความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัม ไซเบอร์เทคโนโลยี ระบบใต้น้ำ และการโจมตีระยะไกล
ปธน.ไบเดน กล่าวว่า โครงการนี้คือการรับประกันว่าทั้งสามประเทศจะมีศักยภาพทางทหารที่ทันสมัยที่สุดในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า ความร่วมมือของสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อต้านทางการขยายอิทธิพลทางทหารของจีน และยิ่งเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ ต้องการรักษาบทบาทนำในภูมิภาคนี้เช่นกัน และพร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบรรดาพันธมิตรต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
SEE ALSO: อินเดียมอบเรือดำน้ำให้เมียนมา ต้านการขยายอิทธิพลจีนในมหาสมุทรอินเดีย
เอริค เซเยอร์ส แห่ง American Enterprise Institute ให้ความเห็นว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่นี้จะช่วยให้กองทัพออสเตรเลียสามารถปฏิบัติการใต้ทะเลแถบมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกได้ยาวนานขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำพลังงานดีเซลที่มีอยู่
ก่อนหน้านี้ ออสเตรเลียอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทฝรั่งเศส Naval Group เพื่อสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซลและไฟฟ้า 12 ลำ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าราว 70,000 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน กองทัพเรือจีนมีเรือดำน้ำประจำการทั้งหมด 60 ลำในปัจจุบัน รวมถึงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 6 ลำ