งานเสวนาวิชาการ 190 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน ร่วมกับ องค์กรเอกชน The Asia Foundation ร่วมจัดขึ้น ในโอกาสการครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยมีการเสวนาถึงความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง รวมถึงประเด็นอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาค และความคาดหวังของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต่อการเลือกตั้งใหญ่ในไทยที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้
พ.ท. หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย กล่าวเปิดงานผ่านทางคลิปวิดีโอ ถึงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทย-สหรัฐฯ ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมทั้งทางด้านการทหาร การทูต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไปจนถึงความท้าทายในรูปแบบใหม่ เช่น ความมั่นคงทางด้านไซเบอร์
“ในวันนี้ มีชาวไทยกว่า 300,000 คน รวมถึงดิฉัน และอีกหลายพันคนมาศึกษาในสหรัฐฯ ทุกเทอม เฉพาะในปี ค.ศ.2020 มีบริษัทอเมริกันหลายร้อยบริษัทลงทุนเป็นเงินราว 50,000 ล้านดอลลาร์ในไทย- สหรัฐฯ .. ไทยยังร่วมซ้อมรบกว่า 400 ครั้งทุกปี รวมทั้งการฝึก ‘คอบร้า โกลด์’ ที่เป็นการฝึกซ้อมทางทหารแบบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” สว.สหรัฐฯ เชื้อสายไทย ยกตัวอย่างตัวเลขที่น่าสนใจของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ
ทางด้านเมลิซ่า บราวน์ (Melissa Brown) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กิจการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างไทย – สหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ที่ทั้งไทยและสหรัฐฯ และประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอีก 11 ประเทศ เป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มทางเศรษฐกิจที่เปิดตัวในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อ “สร้างกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21 เพื่อรับรองว่า ประเทศสมาชิกจะได้ (ประโยชน์จาก) ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกัน”
“ตามที่ ปธน. ไบเดน กล่าวไว้ว่า พันธมิตร (ระหว่างไทย-สหรัฐฯ) เป็นรากฐานอันมั่นคงของวิสัยทัศน์ร่วมกันของเรา ในการมีภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง มีความเชื่อมโยง มั่นคงและมั่งคั่ง”ผช. รมว.ต่างประเทศสหรัฐ กล่าว และว่า ในปีนี้ สหรัฐฯ ยังได้จัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น ‘VIV Asia’ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าจากสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ ‘Trade Winds’ ซึ่งเป็นการประชุมด้านการพัฒนาการค้าและธุรกิจที่นำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุด โดยมีบริษัทกว่า 100 บริษัทจาก 20 ภาคส่วนเข้าร่วมเพื่อขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าในไทย และเมื่อปีที่แล้ว ไทยยังเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค โดยชูประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
“เช่นเดียวกับที่ไทยและประเทศเอเปคอื่น ๆ ร่วมกันบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาการเติบโตที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมโดยทุกฝ่ายในภูมิภาค ในลักษณะเดียวกัน ไทยยังเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการข่วยแก้วิกฤตภูมิภาคโดยรัฐบาลพม่า ไทยมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะภายในอาเซียน ในการทำให้รัฐบาล (พม่า) ต้องรับผิดชอบ และเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงโดยทันที” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กิจการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ด้านนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวย้อนไปถึงความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมาเกือบครบ 190 ปี (ทั้งสองประเทศได้ลงนามสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2376 หรือ ค.ศ. 1833 สมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 3) นับตั้งแต่ช่วงล่าอาณานิคมที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้ช่วยยกระดับทางการทูตของไทยท่ามกลางลัทธิล่าอาณานิคมของยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สืบเนื่องมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ต่อมาในช่วงสงครามเย็น ไทยและสหรัฐฯ ร่วมลงนามในแถลงการณ์ถนัด-รัสก์ เมื่อปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ.2505) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาด้านความมั่นคงร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยสหรัฐฯ รับรองว่าจะช่วยเหลือไทยหากเผชิญกับการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน“นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ เป็นผู้รับประกันสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคของเรา และไทยภูมิใจที่มีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนั้น” ทูตไทยประจำสหรัฐฯ กล่าว
นายธานีกล่าวต่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย – สหรัฐฯ ในปัจจุบันว่า ทั้งสองประเทศต่างลงทุนซึ่งกันและกัน เช่น ภาคเอกชนไทยที่ประกอบการด้านพลังงาน การผลิตพลาสติก เคมีภัณฑ์ ซอฟท์แวร์ และชิ้นส่วนไอที ในรัฐต่าง ๆ ราว 27 รัฐ เช่น รัฐเท็กซัส โอไฮโอ แคลิฟอร์เนีย มินนิโซตา สร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่เกือบ 6,000 ตำแหน่ง ขณะที่บริษัทอเมริกันก็ลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน
“ความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดของเรา เนื่องจากเราต้องการเชื่อมโยงกับระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ด้านสตาร์ทอัพและนวัตกรรมที่มีเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ” นายธานีกล่าวเสริม
ทางด้านศาสตราจารย์เกียรติคุณ แคทเธอริน ดัลพีโน (Catharin Dalpino) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวเน้นถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในแง่ของการส่งเสริมประชาธิปไตยในภูมิภาครวมทั้งไทย โดยกล่าวว่า ขณะที่สหรัฐฯ มีพันธกิจทางกฎหมายที่ต้องระงับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงบางอย่างเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในไทย แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นผู้ร่วมกำหนดรากฐานประชาธิปไตยของไทย ซึ่งแตกต่างจากในประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์
“ฉันคิดว่า การที่ (สหรัฐฯ) ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นผู้ร่วมกำหนดรากฐานประชาธิปไตยในประเทศ (ไทย) เป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาธิปไตยจะพัฒนาไปได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่ามาก และฉันคิดว่านั่นเป็นจุดแข็งของความสัมพันธ์สหรัฐฯ – ไทย” อาจารย์ดัลพิโนกล่าว
ในแง่ความร่วมมือในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาจารย์ดัลพิโนยังเห็นว่า ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ และประเทศลุ่มแม่น้ำโขงยังสามารถพัฒนาไปมากกว่านี้ได้อีกมาก เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นทั่วโลก และทั้งสหรัฐฯ และไทยควรใช้ประโยชน์จากชุมชนองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ และองค์กรสิ่งแวดล้อมที่เธอมองว่า มีความเข้มแข็งที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผ่นดินใหญ่
ทางด้านพันเอกแลร์รี เรดมอน (Larry Redmon) อดีตผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยมีความสำคัญในแง่ของการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งในด้านการเป็นสถานที่จัดการฝึกซ้อมรบร่วมคอบร้า โกลด์ ไทยยังเป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศแรกที่ส่งกองกำลังเข้าอบรมที่ศูนย์ฝึกความพร้อมร่วม (Joint Readiness Training Center) ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกระดับโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย
“ผมเห็นว่า ในการที่เรามองไปในศตวรรษที่ 21 นี้ สิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เราได้ คือการสนับสนุนโครงการ (ความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐฯ) พันเอกเรดมอนกล่าว “เพราะหากเราต้องการให้ไทยเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและพันธมิตร เราจะต้องช่วยให้ไทยพัฒนากองกำลังให้มีความทันสมัยและสามารถสร้างรายได้…อุตสาหกรรมความมั่นคงในไทยนั้นเล็กมาก และยังต้องพึ่งพายุทโธปกรณ์จากประเทศอื่น ๆ และหากเราต้องการให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเอง เราสามารถช่วยในด้านอุตสาหกรรมความมั่นคง (ของไทย) ได้”
ทางด้าน ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ร่วมด้านการรักษาสันติภาพและความมั่นคงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อปีที่แล้ว มีการการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย (US -Thailand Strategic and Defense Dialogue) ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่การหารือประเด็นร่วม โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงแบบใหม่ การรับมือภัยก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล ความมั่นคงด้านไซเบอร์ รวมไปถึงความมั่นคงของมนุษย์
“อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนแล้ว การรักษาสมดุลด้านนโยบายต่างประเทศของไทยนั้นเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น” อาจารย์พงศ์พิสุทธิ์ กล่าว “เพราะฉะนั้น ความร่วมมือด้านความมั่นคงใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และไทยไม่ควรสร้างภาพจำว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามกดดันให้ไทยเลือกระหว่างมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่ง”
นักวิชาการ จากคณะรัฐศาสตร์ ผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศนั้น ยังมีหลายด้านที่มีศักยภาพเติบโตต่อไปได้อีกมาก เช่น พลังงานหมุนเวียน การค้าดิจิทัล การขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน ที่จะช่วยเพิ่มการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทย และทำให้ไทยเป็นอีกทางเลือกในกลุ่มประเทศหุ้นส่วนที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะการเป็นอีกทางเลือกนอกจากจีน
“ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงจะพัฒนาตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และไทยในกรอบความร่วมมือมือเศรษฐกิจแปซิฟิก และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (ระหว่างทั้งสองประเทศ)” เขากล่าว “อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องการคือ ความต่อเนื่องและความชัดเจนของสหรัฐฯ ในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มเหล่านี้ในระยะยาว”
อาจารย์พงศ์พิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงประชาธิปไตยของไทย โดยยอมรับว่า ไทยมีความท้าทายในการรักษาคุณค่าทางประชาธิปไตยในระบบการเมืองและสังคม “เพราะฉะนั้น ทางหนึ่งที่จะทำได้ คือการสนับสนุนระบอบที่ทำให้ประเทศไทยไปต่อได้ ระบอบที่เคารพสิทธิมนุษยชน แลได้รับการยอมรับและเคารพจากนานาประเทศ…การยึดถือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจะแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีคุณค่าในฐานะหุ้นส่วนของสหรัฐฯ และยอมรับฟังข้อเสนอจากมิตรประเทศ…คุณค่านี้จะช่วยเสริมให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เข้มแข็งขึ้นในระยะยาว”
อดีตทูตทหารสหรัฐฯ ชี้ พันธมิตรไทย-สหรัฐฯ ยังมองภัยคุกคามจีน ต่างกัน
เมื่อกล่าวถึงประเด็นอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคแล้ว พันเอกเรดมอน อดีตผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐฯ ในไทย กล่าวว่า สหรัฐฯ ชัดเจนว่า สหรรัฐฯ ยอมรับอิทธิพลด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นของจีนได้ ตราบใดที่จีนมีการเปิดกว้างและโปร่งใสต่อการเพิ่มกิจกรรมทางการทหารของตน โดยปีนี้เป็นปีแรกที่จีนเข้าร่วมซ้อมรบคอบร้าโกลด์ด้วยเช่นกัน “เราพยายามเข้าใจมุมมองของไทย แต่บางครั้งเราก็ยอมรับว่า เราไม่ได้เข้าใจการมองภัยคุกคามของไทยเสียทีเดียว…ผมไม่คิดว่า กองทัพไทยจะเชื่อจริง ๆ ว่า จีนจะเป็นภัยคุกคามด้านการทหารของไทยในเวลานี้”
ทางด้านอาจารย์พงศ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า ในประเด็นอิทธิพลระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในภูมิภาคนั้น ไทยมีแนวโน้มตอบสนองด้วยท่าทีที่ไม่ชัดเจนไปทางใดทางหนึ่ง
“ไทยได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เราพึ่งพาจีนในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา” เขากล่าว “บรรยากาศในขณะนี้อ่อนไหวมาก โดยการแข่งขันในขณะนี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายในไทยคิดว่า การเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ อาจเท่ากับการลดความสัมพันธ์กับจีน…ผมจึงคิดว่า ไทยอาจพยายามเลี่ยงการตัดสินใจแบบเด็ดขาดเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้นในประเด็นอย่างเช่น ช่องแคบไต้หวัน”
ทางด้านนายธานี ทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน กล่าวกับ วีโอเอ ว่าว่าในประเด็นนี้ว่า ไทยสามารถเป็นจุดเชื่อมและพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับทั้งจีนและสหรัฐฯได้
“เรามีความใกล้ชิดกับทั้งสองประเทศ เราเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เราสามารถคุยกับทั้งจีน และสหรัฐฯได้อย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา ในโอกาสและเวลาที่เหมาะสม ไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าเราอยู่ในจุดที่เฉพาะเจาะจง เป็นจุดที่ค่อนข้างมีความสำคัญระหว่างดุลย์อำนาจระหว่างทั้งจีน และสหรัฐฯ ตรงนี้เราจึงใช้ความสัมพันธ์ที่เรามีเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันในประเด็นที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น” นายธานี กล่าวกับ วีโอเอ ไทย
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ย้ำ อยากเห็นการเลือกตั้งไทยอิสระ เป็นธรรม – ทูตไทยย้ำ เลือกตั้งโปร่งใสแน่นอน
แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย กล่าวว่า เธออยากเห็นการเลือกตั้งของไทยในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองหลังเกิดรัฐประหารนี้ “เป็นอิสระ เป็นธรรม วางรากฐานให้ไทยไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่มั่นคงบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม พลเรือนได้ถืออำนาจ และการเคาพรพต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
ขณะที่ เมลิซ่า บราวน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเช่นกันว่า สหรัฐฯ คาดหวังว่าจะเห็นขั้นตอนการเลือกตั้งที่อิสระ ยุติธรรม มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และโปร่งใส
ทางด้านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ย้ำว่า การเลือกตั้งของไทยที่กำลังจะมาถึง จะเป็นไปอย่างอิสระ ยุติธรรม และโปร่งใสอย่างแน่นอน “ผมจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง ข้อมูลทุกอย่างมีบันทึกบนกระดาษ ไม่มีการบันทึกทางดิจิทัล ทุกอย่างสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้” เขากล่าว
นายธานีกล่าวเสริมว่า การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ครั้งนี้จะมีความยืดหยุ่นด้วยเช่นกัน โดยทางสถานทูตมีแนวทางเบื้องต้นในการเปิดให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนสามารถเข้ามาเลือกตั้งด้วยตนเองที่อาคารที่ทำการสถานทูต หรือสามารถส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ได้เช่นกัน