วุฒิสภาสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงยืดเวลากู้ยืมเงินของรัฐบาลถึงต้นเดือนธันวาคม

Senate Majority Leader Chuck Schumer of New York walks out of a Senate Democratic meeting pumping his fist, at the Capitol in Washington, Oct. 6, 2021, as a showdown loomed with Republicans over raising the debt limit.

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


ผู้นำสภาสูงสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงในวันพฤหัสบดี ที่จะขยายระยะเวลาให้รัฐบาลทำการกู้ยืมเงินต่อไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งช่วยไม่ให้สหรัฐฯ ต้องมีประวัติผิดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในรัฐสภาสหรัฐฯ ประกาศรายละเอียดข้อตกลงที่บรรลุกับ มิตช์ เเม็คคอนเเนลล ผู้นำวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งทางฝั่งพรรคเดโมแครตเสนอให้ขยายเวลาของเพดานหนี้กู้ระยะยาวมูลค่า 28.4 ล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาล ไปจนถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้ทำการกู้เพิ่มได้โดยไม่ระบุตัวเลข เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ของรัฐบาล โดยจะมีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือกันอีกครั้งเมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าว

สื่อหลายแห่งรายงานว่า ตัวเลขที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ น่าจะตกลงภายใต้ข้อเสนอยืดระยะเวลาให้รัฐบาลมีอำนาจกู้เงินเพิ่มไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคมนั้นจะอยู่ที่ 480,000 ล้านดอลลาร์

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ความตึงเครียดกรณีเพดานหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ในกลุ่มสมาชิกสภาคองเกรสยกระดับขึ้นอย่างมาก ขณะที่กำหนดชำระหนี้กำลังจะมาถึงในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นเส้นตายที่ แจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นวันที่รัฐบาลจะไม่มีเงินชำระค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าภาษีที่จัดเก็บมาได้เป็นเวลายาวนาน

หากไม่มีการขยายระยะเวลาให้รัฐบาลมีอำนาจกู้ยืมเพิ่มขึ้น การเบิกจ่ายเงินบำนาญรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และเงินเดือนสำหรับลูกจ้างและคู่สัญญารัฐทั้งหลายก็จะต้องล่าช้าออกไป ขณะที่ สิ่งที่ทุกคนกลัวมากที่สุดก็คือ การผิดชำระหนี้โดยรัฐที่จะ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยิ่งยุ่งเหยิงวุ่นวายขึ้นไปอีก ทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกต่อไปด้วย

ก่อนหน้านี้ สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันประกาศว่า จะไม่ลงมติเพื่อช่วยพรรคเดโมแครตเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคัดค้านข้อเรียกร้องของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในการผ่านร่างกฎหมายมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อขยายโครงการเสริมสร้างความปลอดภัยทางสังคมของประเทศ โดยจะเป็นเงินที่ได้มาจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสำหรับธุรกิจและผู้มีฐานะร่ำรวย อันเป็นเงื่อนไขที่พรรครีพับลิกันคัดค้านเช่นกัน

ขณะเดียวกัน มิตช์ เเม็คคอนเเนลล ผู้นำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา แนะนำว่า พรรคเดโมแครตซึ่งคุมเสียงข้างมากในสภาสูงอยู่ ควรหันมาใช้กระบวนการปรองดองเพื่อแก้ปัญหาเพดานภาษีด้วย

ทั้งนี้ กระบวนการปรองดองที่ว่า คือกลยุทธ์ในระบบรัฐสภา ที่อนุญาตให้มีการผ่านร่างกฎหมายบางประเภทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับงบประมาณรัฐ โดยใช้การลงมติเพื่อหาเสียงข้างมากในรัฐสภาสหรัฐฯ แทนที่จะใช้เงื่อนไขเสียงสนับสนุนขั้นต่ำจำนวน 60 เสียง ซึ่งภายใต้สภาพการณ์ปัจจุบัน หมายความว่า พรรคเดโมแครตจะไม่ต้องพึ่งแรงหนุนจากพรรครีพับลิกันในการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเลย

แต่ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในรัฐสภา กล่าวว่า การปรองดองนั้นเป็น กระบวนที่ “ยืดเยื้อ ซับซ้อน และมีความเสี่ยง”