สหรัฐฯ เชื่อว่า จะมีการจัดการหารือระดับทวิภาคีกับรัสเซีย เพื่อถกกรณีการสั่งสมกำลังทหารตามแนวชายแดนประเทศยูเครน ในเดือนมกราคม แม้ว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน จะออกมาโทษสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรตะวันตกว่า เป็นสาเหตุของการยกระดับความตึงเครียดล่าสุดนี้ก็ตาม
แคเรน ดอนฟรีด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งดูแลส่วนงานกิจการยุโรปและยูเรเซีย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ในเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ และรัสเซียจะมีการตกลงเรื่องวันที่ที่แน่นอนสำหรับการประชุมหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของกรุงมอสโก ให้กลุ่มนาโต้ยกเลิกกิจกรรมทางการทหารต่างๆ ในพื้นที่ยุโรปตะวันออกและยูเครน
แต่ ดอนฟรีด เตือนด้วยว่า สหรัฐฯ ได้ย้ำไปแล้วว่า การหารือที่จะเกิดขึ้นนั้น จะอยู่บนพื้นฐานของ “การต่างตอบแทน และการแก้ไขประเด็นความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของรัสเซีย” และจะมีขึ้น “ภายใต้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับพันธมิตรในยุโรปและหุ้นส่วนอื่นๆ” ของสหรัฐฯ ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลชาติตะวันตกประเมินว่า รัสเซียได้ส่งกำลังทหารราว 100,000 นายไปประจำพื้นที่ชายแดนของตนที่ติดกับภาคตะวันออกของยูเครนแล้ว หลังทำตามอำเภอใจผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้ากับตนเองเมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยสหรัฐฯ แสดงความกังวลว่า รัสเซียอาจทำการรุกรานยูเครนในปีหน้า แต่ไม่เชื่อว่า ปธน.ปูติน ได้ตัดสินใจแล้วว่า จะทำการโจมตีหรือไม่
SEE ALSO: 'ไบเดน' เปิดกล้องหารือ 'ปูติน' ร่วม 2 ชม. ถกประเด็นยูเครน
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เตือนปธน.รัสเซียเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ในระหว่างการประชุมสุดยอดแบบออนไลน์ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรต่างๆ จะดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบรุนแรงหนักต่อรัสเซีย หากเกิดการรุกรานยูเครนขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม ปธน.ไบเดน ปฏิเสธที่จะส่งกำลังทหารอเมริกันเข้าไปยังภูมิภาคที่กำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดนี้ หากรัสเซียทำการโจมตียูเครน แต่รัฐบาลกรุงวอชิงตันมีแผนจะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งขีปนาวุธจาเวลิน ไปยังรัฐบาลกรุงเคียฟเพื่อใช้ในปฏิบัติการป้องกันตนเอง
ในส่วนของการประชุมทวิภาคีที่จะเกิดขึ้นนั้น ปธน.ปูติน ได้เรียกร้องให้กลุ่มนาโต้ปฏิเสธการที่ยูเครนและประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ร้องขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรนี้ที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมๆ กับให้ทำการลดการส่งกำลังทหารเข้าไปยังพื้นที่ยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกด้วย
ผู้นำรัสเซียยังอ้างด้วยว่า หากสหรัฐฯ และนาโต้ติดตั้งระบบขีปนาวุธในยูเครน การยิงถล่มกรุงมอสโกนั้นจะสามาถทำได้ภายในเวลาไม่กี่นาที
นอกจากนั้น ปธน.ปูติน กล่าวว่า กรุงมอสโกหวังที่เห็น “การหารืออันสร้างสรรค์และมีความหมาย ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ซึ่งประจักษ์เห็นด้วยตาได้ และเกิดขึ้นภายในกรอบเวลาหนึ่งๆ ซึ่งจะช่วยยืนยันความมั่นคงปลอดภัยที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกฝ่าย” พร้อมระบุว่า “ความขัดแย้งทางการทหาร และการเสียเลือดเนื้อนั้นไม่ใช่ทางเลือกของรัสเซีย และรัสเซียก็ไม่ต้องการเห็นเหตุการณ์เช่นนนั้น แต่ต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยหนทางทางการเมืองและทางการทูต”
- ข้อมูลบางส่วนมาจากสำนักข่าว รอยเตอร์ และ เอพี