ในเวลานี้ อาจกล่าวได้ว่า สหรัฐฯ คือ กระสอบทรายของโลกให้สภาพอากาศอันเลวร้ายซ้อมนวมจนอยู่ในสภาพย่ำแย่หนัก หลังต้องเผชิญสภาพอากาศสุดโต่งอันรุนแรง และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับสูง รวมทั้งมีรูปแบบต่างกันมากมาย ในระดับที่สูงกว่าพื้นที่ใดในโลก
ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คนกล่าวโทษว่า สภาพทางภูมิศาสตร์คือ ต้นเหตุหลักของสภาพการณ์ดังกล่าว นั่นเป็นเพราะสหรัฐฯ มีมหาสมุทรสองแห่ง อ่าวเม็กซิโก เทือกเขาร็อคกี้ คาบสมุทรที่ยื่นออกมา เช่น รัฐฟลอริดา แนวปะทะของลมพายุที่กระหน่ำเข้าหากันและกระแสลมกรด ที่รวมตัวกันจนก่อให้เกิดสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดได้เองตามธรรมชาติ
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกกับ เอพี ว่า นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะนอกจากธรรมชาติจะไม่เข้าข้างสหรัฐฯ แล้ว ผู้คนยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกมากจากสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วย
และเมื่อผนวกกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้าไป ริค สปินราด (Rick Spinrad) หัวหน้าสถาบันสมุทรศาสตร์วิทยาเเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ หรือ โนอา (NOAA) คาดว่า จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พายุทอร์นาโด พายุเฮอริเคน น้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้ง ไฟป่า พายุหิมะ พายุน้ำแข็ง พายุ นอร์อีสเตอร์ (Nor’easters) ซึ่งเป็นพายุที่เกิดขึ้นเฉพาะที่แถบชายฝั่งตะวันออก หิมะที่เกิดจากลมเย็นจัดพัดผ่านพื้นที่ทะเลสาบทางเหนือของสหรัฐฯ คลื่นความร้อน พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง ลูกเห็บ ฟ้าผ่า ปรากฏการณ์แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ พายุเดเรโช หรือพายุฝนฟ้าคะนองขนาดยักษ์ พายุฝุ่น พายุมรสุม บอมบ์ไซโคลน และลมวนขั้วโลกที่น่าสะพรึงกลัว
ซูซาน คัตเตอร์ (Susan Cutter) ผู้อำนวยการสถาบัน Hazards Vulnerability and Resilience Institute แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนา อธิบายว่า จีนอาจมีผู้คนมากกว่าและมีพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นเดียวกับสหรัฐฯ แต่จีนไม่ได้มีการปะทะกันของมวลอากาศมากเท่ากับในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรง
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งพายุทอร์นาโดและพายุรุนแรงอื่น ๆ ไปแล้ว
วิคเตอร์ เจนซินี (Victor Gensini) ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาที่มหาวิทยาลัย นอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ กล่าวว่า สภาพการณ์ดักล่าวเริ่มมาจากสองปัจจัยซึ่งได้แก่ อ่าวเม็กซิโก และภูมิประเทศที่ยกสูงไปทางตะวันตก โดยทางฝั่งตะวันตก ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ปัญหาแม่น้ำในบรรยากาศ ส่วนทางฝั่งแอตแลนติกต้องเผชิญกับพายุนอร์อีสเตอร์ในฤดูหนาว พายุเฮอริเคนในฤดูร้อน และบางครั้งก็มีความประหลาดของสภาพอากาศทำให้เกิดทั้งสองอย่างพร้อมกัน จนกลาบมาเป็นพายุรุนแรง เช่น ซูเปอร์สตอร์มแซนดี้ หรือพายุเฮอริเคนแซนดี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ
โจเซฟ ทรูจิลโล ฟัลคอน (Joseph Trujillo Falcon) นักสังคมศาสตร์ผู้ตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังสภาพอากาศที่เลวร้ายผ่านพ้นไปแล้ว กล่าวว่า พายุทอร์นาโดที่พัดถล่มรัฐเคนตักกีเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2021 เข้าโจมตีพื้นที่ซึ่งมีเหยื่อเป็นผู้อพยพลี้หนีภัยจากอเมริกากลางและใต้ บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และแอฟริกา ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ประสบภัย โดยปัญหาสำคัญก็คือคนเหล่านั้นไม่รู้จักพายุทอร์นาโดที่ไม่เกิดในประเทศบ้านเกิดของตน ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ทราบว่าต้องระวังหรือทำอะไรบ้างเมื่อเจอกับพายุ หรือง่าย ๆ ก็คือ ไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่า จะต้องคอยระวังพายุทอร์นาโดด้วย
วอล์กเกอร์ แอชลีย์ (Walker Ashley) ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัย นอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ กล่าวว่า ด้วยอากาศที่เย็นกว่าในแถบอาร์กติกและอากาศที่อุ่นกว่าในเขตร้อน พื้นที่ระหว่างสองเขตนี้ ซึ่งก็คือละติจูดกลางซึ่งเป็นที่ตั้งของสหรัฐฯ จึงกลายมาเป็นพื้นที่เผชิญสภาพอากาศที่น่าสนใจที่สุด
ความน่าสนใจที่ว่านี้ประกอบด้วยสภาพลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันอุณหภูมิที่ต่างกันอย่างมาก และการไล่ระดับอุณหภูมิจากเหนือไปใต้ที่ก่อให้เกิดกระแสลมกรด ขณะที่ ทิวเขาที่ทอดตัวจากเหนือลงใต้ก็ขวางลมที่พัดจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก และอากาศก็มีสภาพร้อนระอุในแถบทางใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งของอ่าวเม็กซิโก
ศาสตราจารย์เจนซินี จากมหาวิทยาลัย นอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ กล่าวเสริมว่า อ่าวเม็กซิโกอัดอากาศร้อนชื้นเข้าไปใต้อากาศที่มักจะแห้งและเย็นกว่าที่มาจากทิวเขาบริเวณนั้น ซึ่งสภาพอากาศทั้งหมดนี้ไม่มีให้เห็นในที่อื่นในโลกเท่าใดนัก
ขณะเดียวกัน มาร์แชล เชพเฟิร์ด (Marshall Shepherd) ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ซึ่งเป็นอดีตประธานสมาคมอุตุนิยมวิทยาอเมริกัน กล่าวว่า ขณะที่ โดยรวมแล้วสหรัฐฯ มีสภาพอากาศที่แย่ พื้นที่ทางใต้นั้นเป็นส่วนที่โชคร้ายที่สุด เพราะที่นั่นต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดโต่งทุกแบบ
ศาสตราจารย์แอชลีย์ จากมหาวิทยาลัย นอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ อธิบายเพิ่มว่า ทางใต้ของสหรัฐฯ มีโรงงานผลิตมากมายซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายจากสภาพอากาศทุกประเภท และพายุก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตเพราะผู้คนจะมองไม่เห็นและมีโอกาสน้อยที่จะหลบภัย และพวกเขาก็มักจะพลาดไม่ได้รับคำเตือนภัยในขณะที่นอนหลับอยู่อีกด้วย
ท้ายสุด ศาสตราจารย์แอชลีย์ และศาสตราจารย์เจนซินี กล่าวย้ำว่า แม้ว่าสภาพอากาศสุดขั้วในสหรัฐฯ ที่เกิดจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศนี้คือ ส่วนที่ก่อให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ความเป็นจริงก็คือ มนุษย์นี่เองที่เป็นผู้เปลี่ยนให้อันตรายเหล่านั้นให้กลายเป็นหายนะ
- ที่มา: เอพี