ตัวแทนผู้นำเหล่าทัพสหรัฐฯ ปรากฏตัวต่อหน้าสมาชิกสภาคองเกรสในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน และปฏิบัติการอพยพประชาชนออกจากประเทศเอเชียกลางแห่งนี้ หลังกลุ่มตาลิบันเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลสำเร็จ
จนถึงเวลานี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์การล่มสลายของรัฐบาลอัฟกันที่สหรัฐฯ หนุนหลัง และความล้มเหลวในการนำพาชาวอเมริกันและชาวอัฟกันที่มีความเสี่ยงจะเผชิญกับการแก้แค้นจากกลุ่มตาลิบัน ยังคงอื้ออึงอยู่ แต่ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ลอยด์ ออสติน ยืนยันต่อคณะกรรมาธิการกิจการทหารวุฒิสภาสหรัฐฯว่า การอพยพผู้คนออกจากอัฟกานิสถานนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่มีกองทัพทหารใดในโลกจะทำได้ดีกว่าที่กองทัพสหรัฐฯ ทำไปแล้ว
รัฐมนตรีออสติน ระบุว่า การอพยพประชาชนด้วยเครื่องบินที่เกิดขึ้น เป็นปฏิบัติการที่ใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯ เคยทำมา โดยเป็นการดำเนินการภายในเวลา 17 วัน พร้อมชี้ว่า ทางกองทัพฯ “มีแผนที่จะอพยพผู้คนราว 70,000-80,000 คน แต่ทำการอพยพออกมาทั้งหมดได้กว่า 124,000 คน” และยืนยันว่า กองทัพสหรัฐฯ จะไม่ทอดทิ้งชาวอเมริกันที่ต้องการเดินทางออกจากอัฟกานิสถาน
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยังแสดงความเสียใจเกี่ยวกับกรณีการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตายที่สนามบินกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต 13 นาย พร้อมกับชาวอัฟกันอีก 169 คน รวมทั้ง การโจมตีด้วยโดรนหลังจากนั้น ที่ทำให้มีชาวอัฟกันเสียชีวิตอีก 10 คน ซึ่งรวมถึง เด็ก 7 คน
ขณะเดียวกัน พลเอก มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมกระทรวงกลาโหม ซึ่งเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการเช่นกัน ยอมรับว่า กระบวนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานนั้นเป็น “ความล้มเหลวด้านยุทธศาสตร์” และกล่าวว่า ตนเชื่อว่า สหรัฐฯ ควรที่จะคงกองกำลังนับพันนายไว้ในประเทศเอเชียกลางแห่งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มตาลิบันเข้ายึดอำนาจ ดังที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด
พลเอก มิลลีย์ ไม่ยอมเปิดเผยว่า ให้คำแนะนำใดแก่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ กำลังพิจารณาดำเนินการถอนกองกำลังออกจากอัฟกานิสถาน แต่ประธานเหล่าทัพสหรัฐฯ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้ว ตนคิดว่า น่าจะมีเจ้าหน้าที่กองทัพอย่างน้อย 2,500 นายปฏิบัติการต่อเนื่องเพื่อป้องกันการล่มสลายของรัฐบาลอัฟกัน
พลเอก แฟรงค์ แมคเคนซี่ ผู้บัญชาการกองบัญชาการภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ผู้รับผิดชอบปฏิบัติการทั้งหมดในอัฟกานิสถานในช่วงโค้งสุดท้ายของการถอนกำลัง เห็นด้วยกับคำกล่าวของ พลเอก มิลลีย์ แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่า ตนให้คำแนะนำใดแก่ปธน.ไบเดน เช่นกัน
ทั้งนี้ สมาชิกสภาคองเกรสบางราย โดยเฉพาะผู้ที่สังกัดพรรครีพับลิกัน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของปธน.ไบเดน อย่างรุนแรงเกี่ยวกับประเด็นในอัฟกานิสถาน โดยระบุว่า กระบวนการอพยพผู้คนที่เกิดขึ้น เป็น “โศกนาฏรรม” และ “เรื่องเขย่าขวัญ” ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้”