สหรัฐฯ เดินหน้าทำการประหารชีวิตนักโทษ ภายใต้อำนาจของกฎหมายรัฐบาลกลางเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังศาลสูงมีมติ 5 ต่อ 4 ในเช้าวันอังคารตามในประเทศ ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ระงับการประหารชีวิตนักโทษ 4 รายที่มีกำหนดในสัปดาห์นี้และเดือนหน้าไว้
ภายใต้คำพิพากษาของศาลสูงที่ออกมาล่าสุด นายแดเนียล ลิวอิส ลี สมาชิกของกลุ่มผิวขาวแนวคิดสุดโต่งจากเมืองยูคอน รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรมครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกสามคน ที่รวมถึงเด็กหญิงวัย 8 ขวบ เมื่อปี ค.ศ. 1996 กลายมาเป็นนักโทษรายแรกภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลางในรอบเกือบ 20 ปีที่เข้าสู่กระบวนการประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ที่เรือนจำในรัฐอินเดียนา
การประหารชีวิต นาย ลี นั้นเดิมมีกำหนดในวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่กระบวนการดังกล่าวถูกระงับก่อนที่จะเริ่มขึ้นในเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของรัฐอินเดียนา หลังผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ชะลอการประหารชีวิต เพื่อให้ศาลมีเวลาทบทวนว่าวิธีการประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิ์การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทนายความของ นาย ลี และนักโทษประหาณอีก 3 ราย แย้งต่อศาลชั้นต้นว่า กระบวนการฉีดสารพิษนั้นอาจก่อให้เกิดความทรมานต่อนักโทษก่อนที่จะเสียชีวิตจริง จึงร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ หลังมีการต่อสู้ทางกฎหมายและการอุทธรณ์เป็นเวลาหลายปีเพื่อคัดค้านโทษประหารชีวิต
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐฯ ระบุว่า สารพิษที่จะฉีดเข้าสู่ร่างการของนักโทษนั้น เป็นสารที่แต่ละรัฐเลือกใช้เอง และมีการใช้ในการประหารชีวิตนักโทษที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายรัฐมากว่า 100 รายแล้ว โดยไม่มีเหตุน่ากังวลใดๆ
อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาเสียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการประหารตามกำหนด ให้ความเห็นว่า ผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่ยอมรับคำร้องขอของรัฐบาลว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการประหารชีวิตนักโทษ ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง
ในส่วนของนักโทษอีก 3 รายที่ถูกพิพากษาประหารชีวิตภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลาง ในฐานความผิดหลายข้อหา ซึ่งรวมถึงการฆ่าข่มขืนเด็กสาวจำนวนหนึ่งนั้น มีกำหนดการประหารชีวิต ในวันพุธนี้ 1 ราย และในวันศุกร์อีก 1 ราย ขณะที่นักโทษรายสุดท้ายมีกำหนดเข้าสู่กระบวนการประหารชีวิตในวันที่ 28 สิงหาคมนี้
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ประกาศแผนลงโทษประหารชีวิตนักโทษที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลางจำนวน 5 ราย เมื่อปีที่แล้ว หลัง Bureau of Prisons ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรือนจำและนักโทษตัดสินใจให้หลายรัฐใช้บทลงโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษได้ แต่เกิดการฟ้องร้องต่อสู้ในชั้นศาลตามมา ทำให้การดำเนินการประหารชีวิตถูกเลื่อนออกไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม วิลเลียม บาร์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นผู้สนับสนุนการลงโทษประหารชีวิต ประกาศไว้เมื่อต้นเดือนมิถุนายนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีความรับผิดชอบที่จะต้องให้ความเป็นธรรมต่อเหยื่อคดีอาชญกรรมอันโหดเหี้ยม รวมทั้งครอบครัวของทุกคน ที่จะทำการลงโทษผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ให้ได้
รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูลล่าสุดจากองค์กร Death Penalty Information Center แจ้งว่า ปัจจุบัน มีนักโทษประหารที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลาง รอรับโทษอยู่ 62 ราย