Your browser doesn’t support HTML5
ในขณะที่หลายประเทศของโลกยังขาดแคลนวัคซีนต้านโควิด-19 นั้น กำลังมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้รัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยแบ่งปันวัคซีนให้กับประเทศที่ยังขาดแคลน เพราะในอเมริกาเวลานี้มีคนอเมริกันกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดหรือเกือบ 90 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว
และวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศก็มีมากพอจนกระทั่งรัฐบาลของบางรัฐได้ปฏิเสธการรับวัคซีนซึ่งรัฐบาลกลางเป็นผู้จัดหาให้
แต่ขณะเดียวกัน ในบางประเทศของอเมริกากลาง อย่างเช่น ฮอนดูรัส เพิ่งจะได้รับวัคซีนเพียงราว 60,000 ชุดสำหรับประชากรทั้งหมด 10 ล้านคน ส่วนในทวีปแอฟริกาซึ่งมีประชากรรวม 1,300 ล้านคนนั้นก็สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงแค่ 36 ล้านชุดเท่านั้น
ช่องว่างและความแตกต่างที่ว่านี้ทำให้มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นจากทั่วโลก ให้สหรัฐฯ ส่งวัคซีนไปช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ซึ่งก็แน่นอนว่าเสียงเรียกร้องดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันและเป็นเครื่องทดสอบการตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดน ผู้เคยให้สัญญาว่าจะนำพาสหรัฐฯ กลับคืนสู่บทบาทของผู้นำในเวทีโลก และจะทำงานโดยอาศัยความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาของโลกด้วย
SEE ALSO: คาดสหรัฐฯ มีวัคซีนโควิด-19 เหลือใช้ราว 300 ล้านโดส นานาชาติวอนแบ่งปัน
คุณเจ สตีเฟน มอริสัน ผู้อำนวยการของศูนย์นโยบายสุขภาพระดับโลกที่ Center for Strategic & International Studies ในกรุงวอชิงตัน ได้ชี้ว่า ขณะที่สหรัฐฯ สามารถเปลี่ยนสถานะจากการเป็นประเทศผู้ขาดแคลนมาเป็นประเทศที่มีวัคซีนโควิด-19 อย่างมากมายนั้น ขณะนี้จึงเป็นโอกาสที่สหรัฐฯ จะใช้ทรัพยากรซึ่งมีอยู่เพื่อกำหนดทิศทางและผลลัพธ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้
ขณะนี้ประธานาธิบดีไบเดนยังคงใช้ความระมัดระวังเพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องจากประเทศต่าง ๆ เรื่องความช่วยเหลือด้านวัคซีน และรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนก็ยังคงข้อตกลงที่ทำขึ้นโดยประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตยาที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจะต้องขายวัคซีนชุดแรกที่ผลิตได้ในประเทศให้กับรัฐบาลสหรัฐก่อน รวมทั้งยังใช้อำนาจตามกฏหมายเรื่องการผลิตสินค้าในเวลาฉุกเฉินหรือ Defense Production Act เพื่อห้ามการส่งออกวัคซีนไปยังต่างประเทศด้วย
โดยทำเนียบขาวได้ให้เหตุผลว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับการใช้ในประเทศ รวมทั้งได้ยกกรณีจากปัญหาการผลิตวัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson และการสั่งยุติการใช้วัคซีนชั่วคราวจากปัญหาลิ่มเลือด ว่าเป็นตัวอย่างของความจำเป็นที่จะต้องมีวัคซีนอยู่ในมืออย่างเพียงพอ
รวมทั้งเพื่อให้สามารถระดมฉีดให้กับวัยรุ่นและเด็กเล็ก หลังจากที่ผลการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของคนกลุ่มนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วด้วย
SEE ALSO: วิเคราะห์: จีนรุก 'การทูตผ่านวัคซีนโควิด’ ทั่วโลก ท่ามกลางข้อกังขา
แน่นอนว่าการที่สหรัฐฯ ยังไม่ให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆ อย่างเต็มที่ได้เปิดโอกาสให้กับทั้งจีนและรัสเซีย โดยในเดือนนี้ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้กล่าวว่า จีนคัดค้านเรื่องลัทธิชาตินิยมด้านวัคซีนและว่า วัคซีนโควิด-19 นั้นควรจะเป็นสินค้าเพื่อประโยชน์สาธารณะสำหรับทั่วโลกด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาสตราจารย์วิลเลม ฮาเนคอม ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านสุขภาพของทวีปแอฟริกา ได้ชี้ว่า ประเทศที่ร่ำรวยล้วนมีส่วนได้เสียอยู่กับความสำเร็จของการฉีดวัคซีนในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกด้วย เพราะเรื่องนี้นอกจากจะเป็นภาระผูกพันด้านศีลธรรมแล้ว การควบคุมโควิด-19 ในระดับโลกจะเกิดขึ้นไม่ได้หากหลายประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน
นอกจากนั้น การขาดแคลนวัคซีนในบางส่วนของโลกก็จะเป็นผลให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งจะทำให้วัคซีนที่มีอยู่มากมายในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นใช้ไม่ได้ผลในที่สุดด้วย
SEE ALSO: ‘ไบเดน’ รับปากจัดส่ง ‘วัคซีนส่วนเกิน’ จากสหรัฐฯ ช่วยประเทศอื่น
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะตระหนักดีว่าทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่ และเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แบ่งปันวัคซีนโควิด-19 จำนวน 4 ล้านชุดให้กับแคนาดากับเม็กซิโก รวมทั้งยังมีแผนจะให้ความช่วยเหลือกับประเทศต่าง ๆ ในอเมริกากลางถึงแม้จะยังไม่มีรายละเอียดใด ๆ ออกมา
ถึงกระนั้นก็ยังมีความวิตกกังวลกันว่า สหรัฐฯ อาจจะโยงเรื่องการแบ่งปันวัคซีนกับนโยบายทางการทูต อย่างเช่น การขอความร่วมมือจากเม็กซิโกหรือประเทศในอเมริกากลางให้ช่วยสกัดและลดจำนวนผู้อพยพซึ่งพยายามเดินทางข้ามพรมแดนเข้าไปในสหรัฐฯ เป็นต้น