สหรัฐฯ จับมือยุโรป ใช้มาตรการลงโทษจีน-เมียนมา จากกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน

US Secretary of State Antony Blinken addresses the media following the closed-door morning talks between the United States and China upon conclusion of their two-day meetings in Anchorage, Alaska on March 19, 2021.

สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอังกฤษ ประกาศใช้มาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อเจ้าหน้าที่จีนและเมียนมาหลายคน จากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง และการปราบปรามประชาชนในเมียนมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวว่า สหรัฐฯ ประกาศมาตรการลงโทษครั้งนี้เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพร่วมกับพันธมิตรของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นในมณฑลซินเจียงและในประเทศอื่น

SEE ALSO: จีน-สหรัฐฯ จับมือต่อสู้ภาวะโลกร้อนแม้ยังเห็นต่างหลายประเด็น

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศในวันจันทร์ว่าได้ใช้มาตรการลงโทษนายหวัง จุ้นเจิง อดีตรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลซินเจียง และนายเฉิน หมิงเกา ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงสาธาณะมณฑลซินเจียง เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปและอังกฤษ ที่ประกาศลงโทษเจ้าหน้าที่จีนสองคนนี้เช่นกัน รวมทั้งนายหวัง หมิงชาน สมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลซินเจียง และ จู ไห่หลุน อดีตผู้บริหารสูงสุดของมณฑลซินเจียงด้วย

ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีน มีคำเตือนว่า จีนจะตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อมาตรการลงโทษใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของจีนในมณฑลซินเจียง พร้อมประณามการลงโทษครั้งนี้ว่าไม่มีหลักฐานรองรับ มีแต่คำโกหกและข้อมูลผิด ๆ

ทางการจีนยังได้ประกาศใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการลงโทษพลเมืองชาติตะวันตก 10 คน รวมทั้งสมาชิก 5 คนของรัฐสภายุโรป ตลอดจนนิติบุคคลอีก 4 แห่งในข้อกล่าวหาว่า “เผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ และคำโกหก”

SEE ALSO: สหรัฐฯ ประกาศมาตรการลงโทษทางศก.ต่อบุตรนายพลเมียนมาผู้นำก่อรัฐประหาร

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังได้ประกาศมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเมียนมาสองคน คือ ตัน ฮเลียง เจ้าหน้าที่ทหารผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดูแลกองกำลังตำรวจ และพลโทอ่อง โซ ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ดูแลการปราบปรามผู้ประท้วง รวมทั้งหน่วยทหารราบอีกสองหน่วยที่เชื่อมโยงกับการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงในย่างกุ้ง

โดยผู้ที่ถูกลงโทษดังกล่าวจะถูกอายัดทรัพย์สินและระงับวีซ่า รวมทั้งห้ามชาวอเมริกันทำธุรกรรมกับบุคคลและองค์กรแหล่านี้

ก่อนหน้านี้ รับบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้มาตรการลงโทษสมาชิกระดับสูงในกองทัพเมียนมา รวมทั้งบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพ สืบเนื่องจากการรัฐประหารและการปราบปรามผู้ประท้วงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 250 คน

European Union foreign policy chief Josep Borrell speaks during a press conference following a meeting of EU foreign ministers in Brussels, Belgium March 22, 2021.

อียูร่วมใช้มาตรการลงโทษจีน-เมียนมา-รัสเซีย

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งร่วมประชุมที่กรุงบรัสเซลล์ในวันจันทร์ มีมติอนุมัติมาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อจีน เมียนมา และรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของอียูที่มุ่งเป้าลงโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

ภายใต้มาตรการลงโทษชุดใหม่นี้ สหภาพยุโรปได้เพิ่มรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน 4 คน และองค์กรของรัฐบาลจีน 1 แห่งในบัญชีดำ สืบเนื่องจากการใช้กำลังปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีที่อียูใช้มาตรการลงโทษต่อรัฐบาลกรุงปักกิ่งจากประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี ค.ศ.1989

SEE ALSO: ความสัมพันธ์ 'สหรัฐฯ-จีน-รัสเซีย' เผชิญบททดสอบสำคัญจากจุดยืนนโยบายรัฐบาลไบเดน

สำหรับรัสเซีย คณะรัฐมนตรีของอียูระบุว่าจะใช้มาตรการลงโทษที่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแคว้นเชชเนีย หลังจากเมื่อต้นเดือนนี้ ทางอียูเพิ่งประกาศลงโทษเจ้าหน้าที่รัสเซีย 4 คนจากกรณีการจับกุมคุมขังนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลรัสเซีย

ส่วนในกรณีของเมียนมา สหภาพยุโรปประกาศอายัดทรัพย์สินและระงับวีซ่าสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพเมียนมา 11 คน สืบเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพเมียนมาก็จะถูกคว่ำบาตรในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าด้วย