Your browser doesn’t support HTML5
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานในวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นว่า เศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ขยายตัว 6.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นจากระดับ 6.3 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี
สำนักข่าว เอพี รายงานว่า จีดีพีของไตรมาสที่ 2 ซึ่งมีช่วงระยะเวลาครอบคลุมระหว่างช่วงเดือนเมษายนและเดือนมิถุนายนออกมาสูงกว่าระดับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 6.6 เปอร์เซ็นต์ และน่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดของปีนี้ ในภาวะที่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายชะลอตัว ขณะที่ มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐเริ่มหมดอายุลง และห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตยังคงประสบปัญหาหยุดชะงักอยู่
รายงานเศรษฐกิจฉบับล่าสุดนี้ ระบุว่า ตัวเลขประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ซึ่งสูงขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม และการส่งออกที่โตขึ้น 7.6 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้ง การลงทุนภาคธุรกิจในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พุ่งขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม หากการขยายตัวของการนำเข้าในไตรมาสที่แล้วไม่สูงถึง 7.1 เปอร์เซ็นต์ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็จะสูงกว่าที่รายงานออกมา
ในส่วนของภาวะเงินเฟ้อนั้น รายงานเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ที่ไม่คิดรวมราคาน้ำมันและอาหารที่ผันผวนสูง เพิ่มขึ้น 3.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และนี่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 และสูงกว่าเป้าหมายประจำปี 2 เปอร์เซ็นต์ที่ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตั้งไว้ด้วย
สำนักข่าว เอพี รายงานด้วยว่า สมาคม National Association for Business Economics คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 5.7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับการหดตัวถึง 3.4 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว
นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า จีดีพีของสหรัฐฯ จะขยายตัวไม่น้อยกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ ในปีหน้า โดยเศรษฐกิจของประเทศมีโอกาสที่จะได้รับแรงหนุนอย่างมาก หากสภาคองเกรสสามารถผ่านกฎหมายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และมาตรการด้านการใช้จ่ายภาคสังคมและการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ออกมาได้สำเร็จ