เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศระหว่างการประชุมออนไลน์กับผู้นำประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกว่า สหรัฐฯ จะหาทางพัฒนากรอบแผนงานเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
ทำเนียบขาวระบุว่า กรอบดังกล่าวจะ “กำหนดจุดประสงค์ร่วมกันเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกการค้า มาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและพลังงานสะอาด สาธารณูปโภค มาตรฐานแรงงาน และขอบข่ายอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน”
แม้ประกาศดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงนโยบายอย่างเป็นทางการ แต่ก็อาจบ่งบอกได้ว่า สหรัฐฯ กังวลถึงความสัมพันธ์ทางการค้าของตนกับภูมิภาคดังกล่าวที่ยังตามหลังจีน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีของประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีมูลค่าเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก และเป็นความตกลงที่จีนสนับสนุน
ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ดังกล่าวหลัง ปธน. ไบเดน เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกผ่านวิดีโอออนไลน์ โดยผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวในช่วงสี่ปีก่อนหน้านี้ หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเปิดงานในการประชุมสุดยอดเมื่อปีค.ศ. 2017 ที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ แต่ออกจากงานก่อนเริ่มการประชุม และส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นเข้าประชุมแทน
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้ร่วมประชุมระบุถึงความกังวลต่าง ๆ เช่น ความทะเยอทะยานที่เพิ่มขึ้นของจีน ท่าทีที่ยั่วยุมากขึ้นของเกาหลีเหนือ และผลกระทบหลังเหตุรัฐประหารในเมียนมา โดยมี 18 ประเทศเข้าร่วมการประชุม รวมทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน และรัสเซีย และมีประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดประชุม
แอรอน คอนเนลลีย์ นักวิจัยของสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุว่า เป็นเรื่องน่าสนใจที่สหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมที่จัดโดยกลุ่มประเทศที่มีอำนาจน้อยกว่าอย่างอาเซียน และแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ให้เกียรติและนับถือประเทศเหล่านี้ ซึ่งมักเป็นท่าทีของสหรัฐฯ ที่เห็นไม่บ่อยนัก
การประชุมครั้งนี้มีขึ้นหลังการประชุมสุดยอดอาเซียนผ่านวิดีโอออนไลน์ ซึ่งไบเดนก็เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน
จูเลียน คู ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮอฟสตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อพิพาทและกฎหมายระหว่างประเทศ ระบุว่า ปกติแล้วสหรัฐฯ มักถูกมองว่าไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเท่ากับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ยุโรปหรือตะวันออกกลาง และแม้สหรัฐฯ จะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ได้ไม่ยากเนื่องจากเป็นการประชุมออนไลน์ แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อวันอังคาร ไบเดนประชุมออนไลน์กับประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศยกเว้นเมียนมา และประกาศแผนมูลค่าไม่เกิน 102 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
อาจารย์คู ระบุว่า แม้เรื่องเมียนมาอาจเป็นหนึ่งในประเด็นการประชุม แต่อาจมีประเด็นอื่นที่เป็นที่สนใจมากกว่า เช่น กิจกรรมทางทหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในทะเลจีนใต้ จุดยืนของจีนต่อไต้วัน และนโยบายระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการทดสอบอาวุธ
การทูตระหว่างสหรัฐฯ และจีนซับซ้อนขึ้น หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ถอนตัวจากเวทีระหว่างประเทศทั้งหมดและไม่ออกนอกประเทศมานานกว่า 630 วันแล้ว โดยในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เขาแทบไม่ปรากฎตัวแม้แต่ในงานออนไลน์ แต่ส่งเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ เข้าร่วมงานแทน เช่น การประชุมกับผู้นำประเทศกลุ่ม จี-20 เพื่อหารือถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานเมื่อเดือนกันยายน
เมื่อช่วงต้นเดือน ทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำจีนและสหรัฐฯ จะประชุมร่วมกันทางออนไลน์ แต่นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุวันประชุมดังกล่าวแน่ชัด โดยกล่าวเพียงว่าจะมีการประชุมก่อนสิ้นปีนี้เท่านั้น
นายซัลลิแวน ระบุว่า ปธน. ไบเดนเชื่อว่าการประชุมกับ ปธน. สีเป็นเรื่องสำคัญ และทางสหรัฐฯ ต้องการประชุมออนไลน์กับผู้นำจีนเนื่องจากการดำเนินการทูตอย่างเข้มข้นในระดับผู้นำเป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ในยุคที่สหรัฐฯ และจีนแข่งขันกันอย่างเข้มข้น
โดยปกติแล้ว ผู้นำจีนและสหรัฐฯ จะพบกันระหว่างการประชุมประจำปีต่าง ๆ เช่น การประชุมจี-20 หรือการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ในขณะที่ ปธน. ไบเดนจะเข้าร่วมการประชุมทั้งสองที่จะเริ่มในวันพฤหัสบดีนี้ ปธน. สี กลับไม่มีแผนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด