ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จะจัดขึ้นแบบออนไลน์ในวันอังคารนี้ โดยแผนการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง ความสำคัญที่ทำเนียบขาวมองเห็นในกลุ่มที่ประเทศสมาชิก 10 ประเทศนี้ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อยุทธศาสตร์ในการต่อกรกับจีน
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำบรูไน เปิดเผยว่า ปธน.ไบเดน จะนำทีมคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มในสัปดาห์นี้
ครั้งสุดท้ายที่ผู้นำสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มอาเซียนนั้นคือ เมื่อปี ค.ศ. 2017 ที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางไปประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
นักวิเคราะห์มองว่า การที่ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมอาเซียนในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลกรุงวอชิงตันที่ต้องการจะมีปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนทั้งหลาย เพื่อผลักดันความพยายามร่วมกันในการต้านอิทธิพลของจีน โดยมีการคาดการณ์ว่า ปธน.ไบเดน จะมุ่งเน้นความสนใจไปยังประเด็นความร่วมมือด้านการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก และเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
นอกจากนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะยืนยันต่อประเทศต่างๆ ในอาเซียนว่า การที่สหรัฐฯ เข้าร่วมกับอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ภายใต้แผนความร่วมมือจตุรมิตร (Quad) และการจัดส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียนั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะทดแทนบทบาทหลักของอาเซียนในภูมิภาคนี้แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน เมอร์รีย์ ฮีเบิร์ต นักวิชาการอาวุโสประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากศูนย์ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า บรรดาผู้นำอาเซียนน่าจะใจจดใจจ่อเฝ้ารอฟังเกี่ยวกับแผนงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ในการเพิ่มสัดส่วนวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งแผนงานเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานด้วย
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวชี้ว่า ปธน.ไบเดน ยังไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับการกลับคืนสู่โต๊ะการเจรจาความร่วมมือในระดับภูมิภาค ที่อดีตปธน.ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐฯ ออกมา และนักการทูตจากเอเชียรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัว กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ไม่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคแห่งนี้ ถือเป็น ช่องว่างสำคัญช่องหนึ่งเลยทีเดียว
ในส่วนของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีนี้ พลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพและรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนตัดสินใจไม่เชิญผู้นำประเทศสมาชิกมาประชุม แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า อาเซียนมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกก็ตาม