กรมการวิจัยเเละข้อมูล กระทรวงการศึกษาแห่งสหรัฐฯ เปิดเผยผลการสำรวจชิ้นล่าสุดเมื่อเดือนนี้ โดยชี้ให้เห็นการเพิ่มขึ้นของการทำร้ายจิตใจผ่านทางออนไลน์ หรือ Cyberbullying
Rachel Whalen อายุ 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยยูทาห์ จำได้ว่าตอนเรียนมัธยมปลาย เคยถูกอดีตเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งล้อเลียนโพสต์ทางออนไลน์ของเธอ โดยขู่ว่าจะเลิกติดตามหรือยกเลิกการเป็นเพื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ เเละยังโพสต์เรื่องตลกเกี่ยวกับตัวเธอที่รู้กันในกลุ่มเพื่อนสนิทให้คนอื่นได้อ่านทางออนไลน์อีกด้วย
การรังเเกทางออนไลน์หรือ cyberbullying สร้างความเครียดทางจิตใจเเก่ Whalen อย่างมากจนเคยอยากฆ่าตัวตาย แต่หลังจากเข้ารับคำปรึกษา เธอตัดสินใจใช้เวลาน้อยลงกับสื่อสังคมออนไลน์ เธอบอกว่าสื่อสังคมออนไลน์สร้างเเรงกดดันให้เเข่งกันเพื่อให้ได้รับความสนใจจากคนอื่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับทางสื่อสังคมออนไลน์ เเละเป็นปัญหาในกลุ่มเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย
Bryan Joffe ผู้อำนวยการด้านการศึกษาเเละการพัฒนาเยาวชนเเห่ง AASA ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาคมผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบโรงเรียนในสหรัฐฯ หลายเเห่งเคยใช้วิธีไม่ดำเนินการใดๆ ต่อพฤติกรรมนักเรียนที่เกิดขึ้นนอกสถานการศึกษา มาขณะนี้กำลังตั้งกฏระเบียบขึ้นเพื่อจัดการกับการรังเเกทางออนไลน์ โดยมีการลงโทษถึงขั้นให้พักการเรียนหรือไล่ออก
การเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฏหมายว่าด้วยการรังเเกทางออนไลน์ที่มีการนำไปใช้กว้างขวางมากขึ้น อย่างในรัฐเท็กซัสเเละแคลิฟอร์เนีย
ผลการสำรวจพบว่า มีนักเรียนร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 คนถูกรังเเก เริ่มตั้งเเต่การปล่อยข่าวลือหรือการถูกกีดกันจากกลุ่มหรือการข่มขู่ ตลอดจนการทำร้ายทางร่างกายระหว่างปีการศึกษาประจำปี ค.ศ. 2016 - 17 ซึ่งในช่วงระยะเวลาเพียงสองปี มีการรายงานการรังเเกทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 11.5 ไปเป็นร้อยละ 15.3
และหากแยกย่อยออกเป็นเด็กหญิงเเละเด็กชาย พบว่าเด็กหญิงในโรงเรียนมัธยมต้นเเละปลายร้อยละ 21 รายงานว่าถูกรังเเกทางออนไลน์หรือทางข้อความทางโทรศัพท์ ระหว่างปีการศึกษาประจำปี ค.ศ. 2016 - 17 เมื่อเทียบกับร้อยละ 7 ของเด็กชาย
ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจก่อนหน้าระหว่างปีการศึกษา ค.ศ. 2014 - 15 ซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการรังเเกทางออนไลน์เป็นครั้งเเรก
การสำรวจนี้ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้รังเเก แต่เด็กหญิงในการสำรวจชี้ว่า ผู้รังเเกเป็นคนที่ถูกมองว่ามีความสามารถในการสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่น
Lauren Paul ผู้ก่อตั้งหน่วยงานไม่หวังผลกำไร Kind Campaign บอกว่า ร้อยละ 90 ของเรื่องราวที่เธอได้ยินได้ฟังขณะทำงานในโรงเรียน เป็นเรื่องของเด็กหญิงถูกเด็กหญิงคนอื่นรังเเก
หน่วยงานไม่หวังกำไรเเห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้เริ่มต้นโครงการต่อต้านการรังเเกเด็กผู้หญิงโดยเด็กผู้หญิงเมื่อ 10 ปีที่เเล้ว ผ่านการอบรมการเขียนโปรเเกรมคอมพิวเตอร์ฟรีในโรงเรียนราว 300 แห่งต่อปี
Paul เล่าถึงการพบปะกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่หมกมุ่นกับการสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมหลายบัญชี เพราะกลัวถูกกลุ่มเด็กหญิงด้วยกันตัดออกจากกลุ่มหากไม่มีคนกด likes มากพอ หรือมีคนติดตามไม่มากพอในช่วงแต่ละสัปดาห์
แม้ว่า Paul จะจัดอบรมกับเด็กหญิงระดับมัธยมต้นเเละปลายเป็นหลัก เธอบอกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้นในการจัดการรณรงค์แบบนี้ในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า เเละนักศึกษามหาวิทยาลัย
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)