การศึกษาฉบับใหม่ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Child & Adolescent Health ฉบับวันอังคาร ไปสัมภาษณ์เด็กและเยาวชนเกือบ 10,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 13-16 ปีในประเทศอังกฤษ พบว่า สื่อสังคมออนไลน์อาจไม่ใช่ผู้ร้ายที่สร้างปัญหาสุขภาพจิตตัวจริง แต่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของเด็กวัยรุ่นหญิง จากการที่โซเชียลมีเดียเป็นประตูสู่การระรานบนโลกออนไลน์ หรือ cyber-bullying รวมทั้งกระทบต่อกิจกรรมที่มีประโยชน์กับชีวิตมากกว่าการนั่งเฝ้าหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์ที่บ้าน
รัสเซล ไวเนอร์ ผู้ร่วมทำการวิจัยจากสถาบันสุขภาพเด็ก UCL Great Ormond Street Institute of Child Health บอกว่า ในการศึกษาไม่ได้ฟันธงตรงๆว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันตราย แต่การใช้อย่างบ่อยครั้ง อาจกระทบกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น เช่น การนอนหลับ และการออกกำลังกาย ขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตรายและกระทบจิตใจ อย่างการถูกระรานบนโลกออนไลน์
เมื่อพูดถึงความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในการศึกษานี้ สัมภาษณ์เยาวชนปีละ 1 ครั้ง ในช่วงปี ค.ศ. 2013-2015 โดยให้พวกเขารายงานว่าใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั้ง เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม วอทส์แอพ ทวิตเตอร์ และสแนปแชทบ่อยแค่ไหนในแต่ละวัน และกำหนดว่าการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า 3 ครั้งต่อวันนั้นจัดอยู่ในกลุ่ม “บ่อยมาก”
ในการวิจัยยังถามถึงสารทุกข์สุกดิบของวัยรุ่นที่ทำการวิจัยในช่วง 1 ปีถัดมา ตั้งแต่สภาพจิตใจ และสภาพความเป็นอยู่ ความพึงพอใจในชีวิต ความสุข และความกังวลในจิตใจของพวกเขา
ปรากฏว่าไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหญิงหรือชาย ยิ่งเล่นโซเชียลมีเดียบ่อยครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีระดับความเครียดมากเท่านั้น และภาพดังกล่าวยิ่งชัดเจนกับวัยรุ่นหญิง โดยในการศึกษาพบว่า เกือบร้อยละ 60 ของวัยรุ่นหญิงที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ มีปัญหาด้านคุณภาพการนอนหลับและถูกระรานบนโลกออนไลน์ แต่กับเด็กผู้ชายที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง มีเพียงร้อยละ 12 ที่มีผลกระทบทางจิตใจ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้ ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ถึงสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นชาย อีกทั้งยังไม่ได้เก็บรายละเอียดถึงระยะเวลาที่วัยรุ่นใช้เล่นโซเชียลมาเป็นข้อมูลการศึกษา ซึ่งต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต แต่นี่ถือเป็นอีกการวิจัยที่ย้ำยืนยันว่าสื่อสังคมออนไลน์นั้นมีส่วนเชื่อมโยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น หลังจากที่เมื่อเดือนก่อน ทีมวิจัยแคนาดาพบว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากๆ มีส่วนเชื่อมโยงให้เกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้นในวัยรุ่น
บ็อบ แพตตัน อาจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิก จาก University of Surrey ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า การวิจัยนี้กำลังบอกว่าวิธีที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะเน้นจำกัดเวลาเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อให้สุขภาพกายใจของเด็กและเยาวชนดีขึ้นนั้นอาจไม่ได้ผลตรงเป้า แต่ควรเน้นไปที่การทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อร่างกายโดยตรง ก็คือ การนอนหลับและออกกำลังกายมากขึ้น
เช่นเดียวกับแอน เดอสเมต อาจารย์จาก Ghent University ในเบลเยียมที่แนะว่า หากเลือกปรับพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ และแก้ปัญหาการระรานบนโลกออนไลน์ให้ลดน้อยถอยลงไปได้ สื่อสังคมออนไลน์ ที่มีเป้าหมายตั้งต้นคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ก็ยังคงมีด้านดีหากใช้ให้เป็น