สหรัฐฯ เตรียมร่วมเป็นเจ้าภาพ “การประชุมสูงสุดผู้นำโลกว่าด้วย โควิด-19” ครั้งที่ 2

President Joe Biden speaks during a virtual COVID-19 summit, Wednesday, Sept. 22, 2021, in Washington. (AP Photo/Evan Vucci)

ทำเนียบขาวประกาศว่า สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แบบออนไลน์ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการหยุดยั้งวิกฤตครั้งนี้และการเตรียมพร้อมรับมือการอุบัติของไวรัสใหม่ๆ ในอนาคต

ทำเนียบขาวระบุในคำประกาศร่วมที่เผยแพร่ออกมาในวันจันทร์ว่า “การอุบัติขึ้นและการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างเช่น โอมิครอน นำมาซึ่งความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการจัดทำกลยุทธ์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก”

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ สหรัฐฯ จะร่วมเป็นเจ้าภาพกับประเทศเบลีซ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มประเทศหมู่เกาะแคริบเบียน หรือ CARICOM (Caribbean Community) และเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มประเทศจี-7 รวมทั้ง อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานกลุ่มประเทศจี-20 อยู่ และ เซเนกัล ซึ่งเป็นประธานสหภาพแอฟริกาในเวลานี้

การประกาศข่าวการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยปัญหาการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ มีออกมา ขณะที่ ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่ทำให้จีนสั่งยกระดับการควบคุมอย่างเข้มงวด และการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ในสหรัฐฯ ที่ทำให้ทางการนครฟิลาเดลเฟียต้องหันกลับมาประกาศบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากป้องกันการติดเชื้อเป็นแห่งแรกของประเทศ หลังมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ทั่วสหรัฐฯ

แถลงการณ์เกี่ยวกับการจัดงานที่ร่วมลงนามโดย 5 ประเทศเจ้าภาพยังระบุด้วยว่า งานที่จะจัดขึ้นนี้จะเน้นการยกระดับความร่วมมือจากนานาชาติในการทำให้การระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 ยุติลง และเตรียมพร้อมทั่วโลกสำหรับการรับมือกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในอนาคต

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้อยู่เบื้องหลังการเชิญชวนให้นานาชาติหันมาร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อหยุดวิกฤตนี้ จัดการประชุมแบบเดียวกันครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ก่อนที่ เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนจะเริ่มแพร่กระจายไปทั่ว

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ยังเรียกร้องให้ผู้นำโลก กลุ่มผู้ใจบุญสุนทานที่ทำงานด้านสาธารณกุศล กลุ่มเอ็นจีโอ และภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนภารกิจการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนในทุกประเทศให้สูงขึ้นและการส่งเสริมความยั่งยืนด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขด้วย

  • ข้อมูลบางส่วนมาจาก รอยเตอร์, ทำเนียบขาว, politico.com และ theguardian.com