Your browser doesn’t support HTML5
สหรัฐและจีนเจรจาทวิภาคีเรื่องยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจครั้งที่ 6 ที่ปักกิ่งในสัปดาห์นี้ ผู้เชี่ยวชาญไม่คาดว่าจะได้ผลอย่างจริงจังหรือมีการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองในการเจรจารอบนี้
ทางฝ่ายสหรัฐมีรัฐมนตรี John Kerry ของกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรี Chuck Hagel ของกระทรวงกลาโหมไปร่วมการประชุมสองวัน ซึ่งเริ่มต้นวันพุธนี้ที่กรุงปักกิ่ง
Cheng Li ผู้อำนวยการ China Center ที่สถาบัน Brookings ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายอาจจะไม่อยากกวนน้ำให้ขุ่น และสร้างบรรยากาศที่ดีไว้สำหรับการเยือนปักกิ่งของประธานาธิบดี Barack Obama ที่อาจจะมีขึ้นในปีนี้สำหรับการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC ก็ได้
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนผู้นี้บอกว่า ประธานาธิบดี Obama อาจเยือนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงการประชุม APEC เพราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายอาจจะย้ำในเรื่องความสัมพันธ์ที่แข็งขัน ผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน แทนที่จะพูดถึงเรื่องที่ทำความขุ่นเคืองให้กันและกัน ซึ่งก็คือเรื่องที่จีนถูกกล่าวหาว่าพยายามจะขยายขอบเขตการควบคุมทางทะเล ซึ่งนักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่าเป็นเรื่องอันตรายที่ผู้นำของทั้งสองประเทศจะต้องหารือกัน
เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวไว้ว่า สหรัฐมีแผนจะหยิบยกเรื่องคำกล่าวอ้างอธิปไตยของจีนเหนือเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้และส่วนใหญ่ของทะเลจีนตะวันออกขึ้นมาพูด
ในขณะเดียวกัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นคัดค้านคำกล่าวอ้างของจีน เพราะล่วงล้ำเข้าไปในเขตน่านน้ำของตน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งกำลังร่วมมือทำงานกับฟิลิปปินส์ทางด้านกฎหมายเพื่อคัดค้านคำกล่าวอ้างดังกล่าวของจีน
ศาสตราจารย์ Hillary Mann Leverett ของ American University ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า โดยเปรียบเทียบแล้ว เวียดนามมีจุดอ่อนอย่างมากในเรื่องนี้ เพราะทั้งญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์มีสนธิสัญญาการป้องกันประเทศกับสหรัฐ ที่กำหนดไว้ว่าสหรัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือประเทศทั้งสองในการป้องกันประเทศ แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกาะเล็กๆก็ตาม แต่สหรัฐไม่มีสนธิสัญญาเช่นนั้นกับเวียดนาม จีนจึงสามารถผลักดันเวียดนามได้มากกว่าญี่ปุ่นหรือฟิลิปปินส์
และแม้สหรัฐจะกำลังช่วยฟิลิปปินส์ปรับปรุงกองทัพเรือของตน วอชิงตันก็ไม่แสดงจุดยืนในเรื่องการกล่าวอ้างสิทธิ์อธิปไตยทับซ้อนกันในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นทีท่าที่นักวิเคราะห์ Michael Auslin ของ American Enterprise Institute ในกรุงวอชิงตันไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก
เขาให้ความเห็นว่า นโยบายของสหรัฐไม่ควรจะหยุดอยู่กับที่หรือเป็นอัมพาตเมื่อเห็นจีนดำเนินการเชิงรุก เพราะสหรัฐสามารถทำอะไรต่ออะไรได้หลายอย่าง แต่รัฐบาลสหรัฐชุดประธานาธิบดี Obama ตัดสินใจที่จะอาศัยเหตุผลทางกฎหมายที่คลุมเครือมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
และแม้จะคาดกันว่า สหรัฐจะหยิบยกเรื่องอื่นๆในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงขึ้นมาหารือ นักวิเคราะห์ Bonnie Glaser ของ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ไม่คิดว่าจะมีความตกลงที่สำคัญใดๆในการเจรจาครั้งนี้