ความเคลื่อนไหวของจีนทั้งในทะเลจีนใต้และตะวันออกกำลังทำให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียหันมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างกัน และในสัปดาห์นี้ ฟิลิปปินส์ประกาศสนับสนุนความพยายามของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เร่งรัดขออาณัติขยายบทบาททางการทหารของประเทศ
ในขณะที่ปักกิ่งขยายบริเวณที่กล่าวอ้างอธิปไตยในทะเลจีนใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์และเวียดนามหันมากระชับความสัมพันธ์ทางการทหารและการทูตระหว่างกัน
Ely Ratner นักวิเคราะห์ที่ Center for a New American Security ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ทั้งสามประเทศนี้เลิกให้ความสนใจกับความขัดแย้งระหว่างกันในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อการขยายตัวเชิงรุกของจีน
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ประเทศต่างๆในภูมิภาคตกใจกับแนวโน้มแสดงความฮึกเหิมของจีนที่เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ทะเลจีนตะวันออกไปจนถึงทะเลจีนใต้
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ ในเดือนพฤษภาคม จีนเคลื่อนแท่นขุดน้ำมันเข้าไปในบริเวณน่านน้ำที่เวียดนามอ้างสิทธิ์อธิปไตย และสองสามสัปดาห์หลังจากนั้น ทหารของเวียดนามและฟิลิปปินส์ พบปะสังสรรค์กันเป็นเวลาหนึ่งวันบนเกาะที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อน ไม่มีฝ่ายใดอ้างความเป็นเจ้าของเกาะ แต่แสดงความสามัคคีต่อต้านการขยายอำนาจของจีนในบริเวณดังกล่าวร่วมกัน
และในต้นสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดี Benigno Aquino ของฟิลิปปินส์ประกาศสนับสนุนแผนของนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ของญี่ปุ่น ที่จะขยายบทบาททางการทหารของญี่ปุ่น เพื่อเปิดทางให้ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือประเทศพันธมิตรที่ถูกโจมตีได้
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นและสหรัฐได้ให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือเวียดนามและฟิลิปปินส์ปรับเพิ่มเรือลาดตระเวณทางทะเลของตน
แต่จีนไม่ได้แสดงทีท่าว่าจะถดถอย ในการประชุมที่พม่าในเดือนพฤษภาคม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีน Chang Wanquan กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมที่ไปร่วมการประชุมว่า จีนต้องการเจรจาหาทางออกให้กับปัญหาในทะเลจีนใต้ แต่ไม่เห็นว่าการเจรจาแบบพหุภาคีจะแก้ปัญหาที่ว่านั้นได้
Bonnie Glaser นักวิเคราะห์อาวุโสของ Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ในกรุงวอชิงตัน ไม่คิดว่าจีนจะเปลี่ยนจุดยืนในเรื่องนี้
นักวิเคราะห์ของ CSIS ผู้นี้กล่าวว่า จีนเชื่อว่าชาติอื่นๆต้องพึ่งพาอาศัยจีนทางเศรษฐกิจ และจะไม่มีใครประจันหน้าโดยตรงกับจีน หรือไม่ก็รอเวลานานกว่าจะทำเช่นนั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อจีนในที่สุด จีนจึงคิดว่าตนมีเวลา
แต่นักวิเคราะห์ Ely Ratner ของ Center for a New American Security ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่าจีนอาจคาดการณ์ผิดพลาด
เขากล่าวว่า ผู้คนทั่วไปมักจะคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสงครามขึ้นในเอเชีย เพราะเศรษฐกิจเหล่านี้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาก แต่เมื่อมีเรื่องการเมืองและชาตินิยมร้อนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว มักจะไม่มีใครให้ความสนใจกับเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์ผู้นี้ยกตัวอย่างเยอรมนีและอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ