Your browser doesn’t support HTML5
สัปดาห์นี้ที่กรุงวอชิงตัน มีการประชุมเจรจาด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีนครั้งที่ 7 เป้าหมายการประชุมครั้งนี้คือการหารือระหว่างประเทศมหาอำนาจสองประเทศ ในประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต และความตึงเครียดเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ John Kirby กล่าวว่าสัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์สำคัญต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน โดยทั้งสองประเทศจะหารือเรื่องการขยายความร่วมมือเพื่อตอบสนองความท้าทายในหลายด้าน เช่นภาวะโลกร้อน การพัฒนา ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โรคระบาดและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และจีนที่มีต่อประเทศต่างๆ เช่น อิหร่าน อิรัก เกาหลีเหนือและแอฟกานิสถาน ตลอดจนความแตกต่างของสองประเทศในประเด็นสำคัญๆ เช่น ข้อพิพาททางทะเล ความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ต และสิทธิมนุษยชน
การหารือในวันจันทร์มุ่งเน้นในด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคง ซึ่งรวมถึงความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตและประเด็นด้านการทหาร และในวันอังคาร ผู้แทนสองประเทศจะเน้นที่เรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงสนธิสัญญาการลงทุนทวิภาคีหรือ BIT ที่กำลังมีการเจรจาต่อรองกันอยู่ ส่วนในวันพุธจะหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ อิหร่านและแอฟกานิสถาน
ประเด็นร้อนอย่างหนึ่งที่คาดว่าจะถูกหยิบยกมาพูดถึงด้วย คือเรื่องที่สำนักงานบริหารบุคคลของสหรัฐหรือ OPM แจ้งเมื่อต้นเดือนว่า มีการลักลอบล้วงข้อมูลครั้งใหญ่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อเดือน เม.ย ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลสำคัญส่วนบุคคลของพนักงานภาครัฐราว 4 ล้านคนรั่วไหล โดยผู้สืบสวนเชื่อว่าการลักลอบล้วงข้อมูลครั้งนี้มีต้นทางมาจากประเทศจีน
โฆษก John Kirby บอกว่ายังไม่สามารถระบุเจาะจงได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือ แต่การหารือเพื่อสร้างความร่วมมือด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์สถือเป็นเรื่องจำเป็น
ด้านคุณ Bonnie Graser นักวิเคราะห์แห่ง Centers for Strategic and International Studies (CSIS) เชื่อว่าประเด็นเรื่องความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ส จะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการเจรจาระหว่างสองประเทศ รวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุดที่มีการเจาะล้วงข้อมูลของ OPM ซึ่งทางจีนอาจต้องการหลักฐานยืนยันว่ามีต้นตอมาจากจีนจริง แม้ตนยังไม่มั่นใจว่าทางสหรัฐฯ จะยอมแสดงข้อมูลหรือหลักฐานให้กับจีนหรือไม่ แต่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะพยายามแสดงออกให้จีนรู้ว่า หากจีนอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้จริง ถือว่าจีนได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งพื้นที่ที่สามารถยอมรับได้ไปแล้ว
ส่วนในประเด็นเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ นักวิเคราะห์ของ CSIS ชี้ว่าสหรัฐฯ น่าจะพยายามแสดงความกังวลต่อการถมพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างต่างๆ ของจีนในบริเวณหมู่เกาะ Spratly โดยที่ผ่านมาจีนยังไม่สามารถระบุเหตุผลที่ชัดเจนของโครงการก่อสร้างในทะเลจีนใต้ ดังนั้นการเจรจาในประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า แม้ประเทศมหาอำนาจสองประเทศจะมีจุดยืนแตกต่างกันหลายเรื่อง แต่ก็ยังต้องพึ่งพากันในหลายด้านเช่นกัน จึงเชื่อว่าในที่สุดแล้วการเจรจาในสัปดาห์นี้จะให้ผลบวกมากกว่าลบ
นอกจากนั้น ความสำคัญอีกประการหนึ่งของการเจรจาครั้งนี้ คือการวางโครงร่างการเจรจาในระดับผู้นำ ก่อนที่ปธน. จีน Xi Jinping จะเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย นี้
ผู้สื่อข่าว Victor Beattie รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง