รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมประกาศนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเป้าไปที่จีน ก่อนการประชุมสุดยอดกับบรรดาผู้นำหลายประเทศของเอเชีย รวมทั้งการประชุมสหรัฐฯ - อาเซียน ในสัปดาห์นี้ และการหารือระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ และจีน ในเดือนหน้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน มีกำหนดกล่าวปราศรัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าด้วยแนวทางของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีต่อจีน แต่กำหนดการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปหลังจากที่ รมต.บลิงเคน มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกเมื่อวันพุธ
คาดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันจะประกาศถึงแผนของสหรัฐฯ เรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ทรงความสำคัญต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ กับคู่แข่งสำคัญคือจีน
รมต.บลิงเคน กล่าวกับคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันอังคารที่แล้วว่า "เราได้เพิ่มศักยภาพในการจัดทำการปฏิรูปด้านเทคโนโลยี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของเรา"
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าจีนคือ "คู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์" ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทหาร โดยมีการกระทบกระทั่งระหว่างมหาอำนาจสองประเทศนี้บ่อยครั้ง ทั้งในเรื่องการกำหนดกำแพงภาษี การลอบเก็บข้อมูลความลับทางเทคโนโลยี ตลอดจนความขัดแย้งด้านการทหารในทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และช่องแคบไต้หวัน
นักวิเคราะห์เชื่อว่านโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน จะเป็นส่วนสำคัญของการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ - สมาคมอาเซียน ในสัปดาห์นี้ที่กรุงวอชิงตัน รวมถึงการประชุมของกลุ่มจตุภาคี The Quad ในเดือนนี้ที่กรุงโตเกียว ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนจะพบหารือกับผู้นำออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น
ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวย้ำถึงความจำเป็นของการจัดทำ "แผงกันชน" ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งโดยไม่ตั้งใจระหว่างสหรัฐ กับจีน ในช่วงที่สองประเทศต้องแข่งขันกันในหลายด้าน
โดยเชื่อว่าประเด็นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการเจรจาด้านความมั่นคง แชงกรี-ลา (Shangri-La Dialogue) ที่สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายนนี้ด้วย
เมื่อวันอังคาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน กล่าวกับคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ แสดงความเชื่อมั่นว่า การหารือระหว่างตนกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน เว่ย เฟ็งเหอ ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า จะช่วยสนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้
การหารือดังกล่าวจะถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน พบเจรจาแบบซึ่งหน้ากับรัฐมนตรีกลาโหมจีน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายใช้วิธีพูดคุยทางโทรศัพท์กันเมื่อเดือนที่แล้ว
ดรูว์ ธอมป์สัน นักวิชาการอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีความสำคัญในแง่ของการส่งสัญญาณว่าทั้งสองประเทศสามารถพูดคุยหารือกันได้ในประเด็นที่อ่อนไหว แต่จะไม่ใช่การประชุมที่แก้ปัญหาความขัดแย้งของสองประเทศที่สะสมมายาวนานได้
ในการให้สัมภาษณ์กับวีโอเอเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ดีเร็ก โชลเล็ท กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้นดำเนินไปในลักษณะของ "ความขัดแย้ง" และ "การแข่งขัน" ในประเด็นที่ทั้งสองประเทศเห็นต่างกันในหลักการ ขณะที่ความร่วมมือด้านต่าง ๆ "หดตัวลง" หลังจากเกิดสงครามในยูเครน
- ที่มา: วีโอเอ