Your browser doesn’t support HTML5
เป็นเวลาเกือบ 1 แล้วสำหรับเหตุการณ์ก่อการจลาจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และการสืบสวนหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ช็อกประเทศนี้ยังคงดำเนินอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตหนักแล้ว
หลังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายจากการบุกเข้ายึดอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งช็อกคนทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม ของปีที่แล้ว หลายคนแอบคิดว่า ทิศทางการเมืองของสหรัฐฯ อาจมีโอกาสกลับไปสู่ภาวะปกติอีกครั้งเมื่อสถานการณ์จบลง เพราะภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกอาคารสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่เกิดขึ้นจากคำกล่าวหาของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ว่า ตนถูกปล้นชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2020 นั้น น่าจะทำให้ทุกฝ่ายกลับมาประเมินดูอีกครั้งว่า วาทกรรมทางการเมืองใดคือแบบที่ควรยอมรับกันได้
และแม้หลังเหตุการณ์สงบลงในช่วงค่ำคืนของวันเดียวกัน มิตช์ เเม็คคอนเเนลล ผู้นำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา จะออกมาประกาศว่า “ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่” แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป การสอบถามความคิดเห็นของผู้คนในประเทศกลับพบว่ามุมมองดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นสิ่งที่ประชาชนเห็นด้วยเลย
รายงานข่าวระบุว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนแสดงให้เห็นว่า เกือบ 2 ใน 3 ของชาวอเมริกันเชื่อว่า ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ “ตกอยู่ในภาวะวิกฤตและกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะพังทลายอยู่” ขณะที่ เกือบ 1 ใน 3 ระบุว่า ความรุนแรงทางการเมืองนั้น บางครั้งเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นและยอมรับได้
แรงกดดันทางการเมือง
การที่อดีตปธน.ทรัมป์ เดินหน้ายืนยันว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2020 นั้นมีการทุจริตที่ปล้นชัยชนะของตนไป ทำให้เจ้าหน้าที่ในพรรครีพับลิกันซึ่งเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์จลาจลในช่วงแรกค่อยๆ เงียบเสียงกันไป ขณะที่ ผู้ที่ออกมาแก้ตัวแทนผู้ก่อเหตุ หรือแสดงจุดยืนสนับสนุนเหตุที่เกิดขึ้น กลับยิ่งส่งเสียงดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ผลสำรวจความคิดเห็นผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันในสหรัฐฯ พบว่า แม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายที่พิสูจน์ว่า สิ่งที่อดีตปธน.ทรัมป์อ้างนั้นไม่เป็นความจริง ผู้สนับสนุนพรรคนี้จำนวนมากกลับเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นมีการทุจริตจริง และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ขึ้นรับตำแหน่งโดยมิชอบ
และล่าสุด มหาวิทยาลัยแห่งแมสซาชูเซตส์ เปิดเผยผลสำรวจชิ้นใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่เชื่อว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีการทุจริตนั้นสูงถึง 71% โดยจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วน 33% ของประชากรรวมด้วย
ซูซาน สโตคส์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยาก เพราะ “เมื่อฐานเสียงเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ออกมานั้นเป็นผลมาจากการถูกปล้นชัยชนะ สมาชิกสภาสังกัดพรรครีพับลิกันก็ยิ่งมีจำนวนเขตการเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมากที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”
การออกกฎหมายจำกัดสิทธิ์การลงคะแนนเลือกตั้ง
เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลในหลายรัฐที่พรรครีพับลิกันกุมเสียงข้างมากเริ่มดำเนินการผ่านร่างกฎหมายเลือกตั้งใหม่ๆ ออกมา โดยข้อมูลที่ ศูนย์ Brennan Center for Justice ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน เก็บรวบรวมมาได้ระบุว่า มีรัฐดังกล่าวถึง 19 รัฐที่ผ่านกฎหมายใหม่ออกมารวมกันถึง 33 ฉบับ ที่มีผลจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน รัฐอื่นๆ ที่พรรครีพับลิกันคุมอยู่ได้ผ่านกฎหมายใหม่ๆ ที่ยึดอำนาจการจัดการเลือกตั้งจากเลขานุการรัฐ หรือเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น มาอยู่ในมือของสมาชิกสภารัฐแทน เช่น รัฐจอร์เจีย และรัฐแอริโซนา ที่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกมาพลิกและมอบชัยชนะให้ปธน.ไบเดน ไป
ขณะที่ การกระทำของสมาชิกพรรครีพับลิกันในรัฐต่างๆ นี้ ช่วยทำให้ฐานเสียงของพรรครู้สึกดีขึ้นว่า ผลการเลือกตั้งจากนี้จะปราศจากการทุจริตแน่นอน ฝ่ายพรรคเดโมแครตที่เริ่มได้รับการสนับสนุนมากขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะยึดเสียงข้างมากในสภารัฐ ออกมาร้องเรียนว่า การออกกฎหมายต่างๆ นี้ มีจุดประสงค์เพื่อกันไม่ให้ผู้คนสามารถออกมาใช้สิทธิ์ได้ง่าย และทำให้จุดยืนทางการเมืองของพรรคตนเสียหายไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระดับรัฐ
อย่างไรก็ตาม ในหลายรัฐที่พรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมากอยู่นั้น กลับมาการออกกฎหมายใหม่ๆ ที่ช่วยให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ได้ออกมาเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ด้วยการลงคะแนนเสียงล่วงหน้า ทางเลือกที่จะส่งบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์แทนที่จะต้องไปหย่อนบัตรด้วยตนเอง กฎเกณฑ์การลงทะเบียนเลือกตั้งที่มีความซับซ้อนลดลง การเพิ่มจุดรับบัตรลงคะแนนสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมายังเขตเลือกตั้งของตนได้ และระบบช่วยเหลือผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร เป็นต้น
และขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตออกมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้อย่างกว้างขวาง สมาชิกพรรครีพับลิกัน ซึ่งรวมถึง อดีตปธน.ทรัมป์ กลับวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายต่างๆ นี้ ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทุจริตเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังหัวผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันจำนวนมากอยู่แล้วว่า ผลการเลือกตั้งในรัฐที่พรรคเดโมแครตเป็นผู้คุมนั้น เชื่อถือไม่ได้
Your browser doesn’t support HTML5
พื้นที่ ‘อันตราย’
เมื่อพิจารณาทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เซ็ธ แมสเก็ต ผู้อำนวยการศูนย์ Center on American Politics ของมหาวิทยาลัยแห่งเดนเวอร์ บอกกับ วีโอเอ ว่า สหรัฐฯ ได้มาถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างมีเหตุผลมากมายที่จะไม่เชื่อผลการเลือกตั้งในระดับชาติ ซึ่งถือเป็น “พื้นที่อันตราย พื้นที่ที่มีความอ่อนไหว สำหรับระบอบประชาธิปไตย” ทั้งยังจะทำให้ประเทศอื่นๆ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอื่นๆ ล่มสลายได้ด้วย
ซูซาน สโตคส์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก เห็นด้วยกับประเด็นนี้ และกล่าวว่า “จุดที่จะเป็นฝันร้าย” ของสหรัฐฯ นั้นก็คือ กรณีที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่พอใจผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสรุปเอาว่า ผลการลงคะแนนนั้นไม่ชอบธรรมไปเลย
เสียงสะท้อนของผู้มองโลกในแง่ดี
อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ยังมองโลกในด้านดีอยู่ อยู่ เช่น แมรี ฟรานซิส แบร์รี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นทนาย และเคยเป็นประธานคณะกรรมมาธิการสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ มาแล้ว ที่ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะกังวล แต่ไม่ควรจะตื่นตระหนกและเป็นห่วงจนเกินไป
แบร์รี บอกกับ วีโอเอ ว่า สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตด้านประชาธิปไตยมาแล้วในอดีตและรอดพ้นมาได้ เช่น เมื่อปี ค.ศ. 2000 ที่พรรคเดโมแครต ยืนยันว่า อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช นั้นชนะการเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบธรรม และบางคนได้เรียกร้องให้ อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ปฏิเสธที่จะรับรองผลการเลือกตั้งในวุฒิสภา ซึ่งคล้ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม ของปีที่แล้ว กับอดีตรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์