วิเคราะห์ผลกระทบต่อเอเชีย จากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ

The factory of JFE Steel Corporation is seen in Kawasaki near Tokyo, March 2, 2018.

นักวิเคราะห์ชี้มาตรการภาษีของทรัมป์อาจสร้างความขัดแย้งด้านการค้าระดับทั่วโลก

Your browser doesn’t support HTML5

ผลกระทบของการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่ออาเซียน

จีน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ชี้ว่า จีน “คัดค้านอย่างแข็งขัน” ต่อการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ

ขณะที่ญี่ปุ่นเตือนว่า มาตรการของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี

ส่วนเกาหลีใต้บอกว่า อาจจะร้องเรียนไปยังคณะกรรมการความขัดแย้งด้านการค้านานาชาติ ที่องค์การการค้าโลก หรือ WTO โดยเกาหลีใต้เป็นผู้ส่งออกเหล็กกล้าไปยังสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ตามหลังแคนาดาและบราซิล

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใส่ใจคำเตือนของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และสมาชิกพรรครีพับลิกัน โดยได้ลงนามในคำสั่งพิเศษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ปรับภาษีนำเข้าเหล็กกล้าขึ้นไปอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ และ 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับอะลูมิเนียมที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ

ทรัมป์ ได้ยกเว้นผู้นำเข้าเหล็กกล้าและอลูมิเนียมรายใหญ่สองชาติ คือ แคนาดาและเม็กซิโก ในขณะที่กำลังเจรจาเพื่อปรับเปลี่ยนข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA และประเทศอื่นๆ หลายชาติ รวมทั้ง ออสเตรเลีย อาจจะได้รับการยกเว้น

สหรัฐฯ เป็นชาตินำเข้าเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยรวมทั้งหมด 35 ล้านตันเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในปีที่แล้ว โดย 6.6 ล้านตันมาจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย

ดร. วิสาร บุปผเวส นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เรียกมาตรการปรับภาษีนำเข้าที่มุ่งปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯ ว่าเป็นสถานการณ์ที่แย่มาก

นักเศรษฐศาสตร์จาก TDRI กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงเทพฯ ว่า สหรัฐฯเป็นผู้นำในระบบข้อตกลงหลายฝ่าย เป็นผู้นำด้านการเปิดเสรีทางการค้า และมีบทบาทสำคัญมากในการกำหนดกฏระเบียบที่ใช้ควบคุมดูแลการค้าระดับทั่วโลก แต่มาถึงตอนนี้ ปธน. ทรัมป์ ตัดสินใจทำผิดกฏระเบียบเหล่านี้เสียเอง

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI กล่าวว่า มาตรการของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรม กล่าวกับสื่อมวลชนท้องถิ่นที่กรุงเทพฯ ว่า มีผู้ส่งออกหลักหลายชาติ อย่าง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน เวียดนาม และตุรกี ที่อาจจะหันมาส่งออกเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน

ญี่ปุ่นส่งออกอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ ที่ 11 เปอร์เซ็นต์ จีนที่ 14 เปอร์เซ็นต์ และทั้งสองชาติถือเป็นชาติเอเชียผู้ส่งออกอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดไปยังสหรัฐฯ และหากสองชาตินี้หันมาส่งออกไปยังเอเชียแทน ก็จะทำให้ผู้ผลิตในเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไทย เจอกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ถนอมศรี ฟองรุ่งอรุณ แห่งบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ในกรุงเทพ กล่าวว่า ไทยกำลังเจอกับการทุ่มตลาดเหล็กกล้าส่งออกจากจีนเป็นทุนอยู่แล้ว และตอนนี้เกิดความกังวลว่าอาจจะเจอกับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการด้านการค้าจากทวีปอื่นๆ เพื่อตอบโต้มาตรการปรับภาษีของสหรัฐฯ รวมทั้ง จากสหภาพยุโรป

แต่ ดร.วิสาร บุปผเวส แห่งสถาบันทีดีอาร์ไอของไทย ชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นการค้ากับจีน จะช่วยป้องกันภูมิภาคจากมาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มุ่งปกป้องการค้าของสหรัฐฯ เอง

และผลที่จะตามมาคือ บทบาททางเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตอรเลียและนิวซีแลนด์ อาจจะได้รับแรงกระตุ้นมากขึ้นจากการตัดสินของผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้

บรรดานักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาจจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยธนาคารโลกเปิดเผยในรายงานผลการประเมินในเดือนมกราคมที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะโตที่ 6.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งลดลงไปเล็กน้อยจาก 6.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่ผ่านมา

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)