ทั่วโลกจับตา...ใครจะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติต่อจาก บัน คี มูน?

กระบวนการเลือกตั้งเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งเริ่มต้นในวันอังคารแตกต่างจากที่แล้วมา และเป็นครั้งแรกที่ครึ่งหนึ่งของผู้สมัครเป็นผู้หญิง

Your browser doesn’t support HTML5

UNSG

ในขณะที่การเลือกตั้งสหรัฐฯ ดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วโลก กำลังมีการเลือกตั้งอีกตำแหน่งหนึ่งที่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อนานาชาติ​ เป็นตำแหน่งสำคัญที่เปิดรับสมัครผู้สนใจมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน นั่นคือ ตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

ในขณะนี้มีรัฐบาลที่สนใจอยากจะให้ผู้แทนจากประเทศของตนเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว 8 ประเทศด้วยกัน และเป็นครั้งแรกที่ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง

กระบวนการเลือกตั้งเลขาธิการสหประชาชาติในปีนี้ซึ่งเริ่มต้นในวันอังคาร แตกต่างจากที่แล้วมา ซึ่งกระทำกันอย่างลับๆ

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชาติภาคีขององค์การสหประชาชาติมีโอกาสได้ซักถามความคิดเห็นของผู้สมัครในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ หลังรับฟังถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์เป็นเวลาไม่เกิน 10 นาทีจากผู้สมัครแต่ละคน โดยกลุ่มประชาสังคมสามารถส่งคำถามทางวิดีทัศน์เข้าไปให้ประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่ล่วงหน้าได้ด้วย

ในทางปฏิบัติที่แล้วๆ มา ตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติจะหมุนเวียนกันตามภูมิภาค เลขาธิการคนปัจจุบัน นาย Ban Ki-moon ไปจากเอเชีย ก่อนหน้านั้น คือเลขาธิการ Kofi Annan จากแอฟริกา ทำให้คาดคะเนกันว่า รอบนี้น่าจะเป็นของยุโรปตะวันออก

และเท่าที่ปรากฏ หกประเทศในยุโรปตะวันออกได้เสนอชื่อคนของตนไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม โฆษกของประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่กล่าวเตือนไว้ว่า ไม่มีกฎข้อบังคับที่ระบุว่าจะต้องหมุนเวียนกันตามภูมิภาค

ปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งในการพิจารณาผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งสำคัญนี้ คือ ขอบข่ายงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ กล่าวกันว่าผู้ที่ควรเข้ารับตำแหน่งนี้ควรเป็นนักการทูต เป็นผู้ให้การสนับสนุนข้ารัฐการ และ CEO

และก็ยังมีผู้ตั้งคำถามด้วยว่า ควรจะเลือกผู้ที่จะเข้ามาทำงานเป็นเหมือนเลขานุการ หรือเป็นนายทหารชั้นนายพล เมื่อคำนึงถึงปัญหาต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญหน้าในขณะนี้

นอกจากหกประเทศในยุโรปตะวันออกที่เสนอชื่อผู้แทนของตนไว้แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติทั้งในปัจจุบันและอดีตที่ได้ยื่นใบสมัครแล้วด้วย รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี Helen Clark ของนิวซีแลนด์ ซึ่งเวลานี้เป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) และนาย Antonio Guterres อดีตนายกรัฐมนตรีของปอร์ตุเกส ซึ่งเพิ่งพ้นจากตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ของสำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติปลายปีที่แล้ว

กล่าวกันว่าอดีตนายกรัฐมนตรี Kevin Rudd ของออสเตรเลียได้แสดงความสนใจไว้ด้วย

การตัดสินใจเลือกเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่จะกระทำกันในคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติ โดยสมาชิกทั้ง 15 ประเทศจะลงคะแนนลับหลายรอบจนกระทั่งเหลือเพียงชื่อเดียว ซึ่งจะส่งไปให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ให้ความเห็นชอบต่อไป

เป็นที่เชื่อว่า สียงของสมาชิกถาวรห้าประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงฯ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน สหรัฐ และรัสเซีย จะมีน้ำหนักมากกว่าสมาชิกไม่ถาวรอีก 10 ประเทศ

กระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาหลายเดือน และคาดว่าจะมีการประกาศชื่อเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2017