ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติ นาย Juan Mendez กล่าวว่า มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างความรุนแรงต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ กับอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง รวมถึงการถูกละเมิดจากผู้รักษากฎหมาย และตราบาปที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ
คุณ Juan Mendez ชี้ว่า ผู้ต้องขังที่เป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ตกเป็นเป้าหมายของการทำทรมานการถูกละเมิดและเลือกปฏิบัติ ทั้งในส่วนที่ถูกลงโทษทางกฎหมายและนอกกฎหมาย โดยปัจจุบันมีกฎหมายของประเทศต่างๆ อย่างน้อย 76 ประเทศ ที่ถือว่าความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของคนเพศเดียวกันนั้น เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แม้แต่ในสถานที่ส่วนตัว
คุณ Mendez ระบุว่าความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกัน เกิดขึ้นในทุกศาสนา ในประเทศยากจนและร่ำรวย แต่สิ่งที่เห็นคือความรุนแรงและการเลือกปฏิบัตินั้นจะลดลงในประเทศที่ให้สิทธิ์เท่าเทียมกับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน
ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติกล่าวกับ VOA ด้วยว่า เรือนจำทั่วโลกในปัจจุบันมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน
คุณ Mendez ระบุว่าเรือนจำส่วนใหญ่ต่างให้คนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศอยู่รวมกับผู้ต้องขังทั่วไป ทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการถูกทรมาน หรือบางทีก็ถูกโดดเดี่ยวภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการปกป้องคุ้มครองไม่ให้ถูกทำร้าย
รายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้ยังได้ระบุถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงตามสถานกักกันต่างๆด้วย โดยรายงานการศึกษาชี้ว่าในจำนวนผู้ต้องขังทั่วโลกนั้น เป็นผู้หญิงราว 2-9% แต่เรือนจำส่วนใหญ่ยังถูกออกแบบมาสำหรับนักโทษชาย และขาดแคลนบริการพื้นฐานสำหรับนักโทษหญิง
คุณ Juan Mendez ยกตัวอย่างการขาดแคลนบริการทำแท้งที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่อาจเกิดอันตรายจากการมีบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่ถูกข่มขืนหรือถูกกระทำชำเราโดยบุคคลในครอบครัว ซึ่งรัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องปฏิรูปกฎหมายในด้านนี้ด้วย
ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติสรุปส่งท้ายว่า ทุกประเทศจำเป็นต้องปกป้องสิทธิของสตรีที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยกว่าที่คิดกัน
โดยคาดว่าปัจจุบันราว 35% ของสตรีทั่วโลกเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวในรูปแบบต่างๆมาแล้ว
(ผู้สื่อข่าว Lisa Schlein รายงานจากนครเจนีวา / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)