ชาวอเมริกันรุ่นใหม่ปลุกชีพ “ฮอกกี้ใต้น้ำ” กีฬาไฮบริดในยุค 50

Your browser doesn’t support HTML5

ชาวอเมริกันรุ่นใหม่ปลุกชีพ “ฮอกกี้ใต้น้ำ” กีฬาไฮบริดในยุค 50

Your browser doesn’t support HTML5

Underwater Hockey

หากพูดถึงกีฬาฮอกกี้ หลายคนอาจนึกถึงฮอกกี้น้ำแข็ง แต่มีอีกหนึ่งกีฬาลูกผสม ระหว่างฮอกกี้ โปโลน้ำ และกีฬาดำน้ำแบบ free diving มามัดรวมกันเป็น ฮอกกี้ใต้น้ำ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในอเมริกาด้วย

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน สนุกสนานกับการเล่นกีฬาใต้น้ำ ซึ่งมองผิวเผินอาจเหมือนการดำน้ำแบบอิสระ หรือ free diving ก่อนที่จะพบว่าพวกเขากำลังแข่งขันฮอกกี้กันอยู่ใต้น้ำ

ฮอกกี้ใต้น้ำ เป็นกีฬาลูกผสมระหว่างฮอกกี้น้ำแข็ง โปโลน้ำ และกีฬาดำน้ำแบบ free diving มามัดรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เริ่มพบเห็นผู้เล่นกีฬาชนิดนี้ในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษที่ 1950 และเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้

ริชาร์ด แคทเธอรีนา หนึ่งในผู้เล่นกีฬาฮอกกี้ใต้น้ำ บอกว่า กีฬาชนิดนี้เป็นการเล่นระบบทีมที่แท้จริง เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งกาจมาจากไหน สุดท้ายก็ต้องกลับขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อหายใจ ซึ่งระหว่างนั้นต้องเป็นหน้าที่ของเพื่อนร่วมทีมเล่นเกมต่อไปอยู่ดี ไม่มีใครเป็นผู้เล่นดีเด่นกว่ากันไปได้

กติกาค่อนข้างตรงไปตรงมา โดยแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมละ 6 คน และตัวสำรองข้างสนามอีก 4 คน ผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับหน้ากากดำน้ำตื้น แว่นตากันน้ำ หมวกว่ายน้ำ ตีนกบ และแท่งพลาสติกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งใช้เป็นไม้ตีพัค เหมือนกับฮอกกี้น้ำแข็ง แต่มีน้ำหนักราว 1.5 กิโลกรัม เพราะพัคจะต้องหนักพอจะถ่วงลงไปก้นสระระหว่างการเล่นได้นั่นเอง

ตอนนี้มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยในอเมริกา ที่บรรจุฮอกกี้ใต้น้ำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกีฬามหาวิทยาลัย

แอนดรูว์ ครีดัน หนึ่งในผู้เล่นฮอกกี้ใต้น้ำชายของมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน บอกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมฮอกกีใต้น้ำชายของมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมแข่งขันกับทีมต่างชาติ ซึ่งเขาต้องฝึกซ้อมอย่างหนักสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 ปีเต็ม

ความน่าสนใจของฮอกกี้ใต้น้ำ คือเป็นกีฬาประเภททีมที่เล่นได้ทั้งชายหญิง และความพิเศษของรูปแบบการเล่นหลากหลายทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำ

เจน วิตต์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการแข่งขันฮอกกี้ใต้น้ำแห่งสหรัฐฯ บอกว่า สเน่ห์ของฮอกกี้ใต้น้ำคือรูปเกมที่สามารถเล่นได้ 3 มิติและหลากทิศทาง กล่าวคือ ผู้เล่นสามารถลงไปเล่นที่ก้นสระ และขึ้นมาเล่นบนผิวน้ำได้ ซึ่งมีความหลากหลายในการเดินเกมมากกว่ากีฬาอื่นๆ

ความท้าทายสำคัญอีกอย่างของฮอกกี้ใต้น้ำ นอกเหนือจากการหายใจ คือ ผู้เล่นไม่สามารถสื่อสารกันด้วยการพูดใต้น้ำได้ แต่ข้อดีของกีฬานี้ คือ โอกาสบาดเจ็บจากการปะทะน้อยกว่าฮอกกี้น้ำแข็ง และกีฬาอื่นๆ เว้นเสียแต่จะถูกตีนกบของเพื่อนร่วมทีมหรือคู่แข่งฟาดในน้ำระหว่างการแข่งขัน

แม้ว่าฮอกกี้ใต้น้ำไม่ใช่กีฬาใหม่ในอเมริกา แต่ก็ถือเป็นกีฬาแปลกในประเทศ เพราะตอนนี้มีนักกีฬาฮอกกี้ใต้น้ำอาชีพเพียง 200 คนในอเมริกาเท่านั้น และยังมีโอกาสสำหรับผู้ที่สนใจอีกมากมายในอนาคต

(ผู้สื่อข่าว Maxim Moskalkov / นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ เรียบเรียง)