Your browser doesn’t support HTML5
สหประชาชาติจัดการประชุมที่นคร Geneva เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาการพัฒนาระบบหุ่นยนต์สังหารที่ไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม หลายประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธตามรูปแบบ หรือ Convention on Conventional Weapons เข้าร่วมการประชุมของผู้เชี่ยวชาญระบบหุ่นยนต์สังหาร
ในขณะนี้ ทางการทหารของหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐ จีน อิสราเอล เกาหลีใต้ รัสเซีย และอังกฤษ มีระบบหุ่นยนต์สังหาร ที่มีมนุษย์ควบคุมการใช้ในระดับต่างๆ
ราวๆ สองในสามของกว่า 30 ประเทศที่แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ต้องการให้ระบบหุ่นยนต์สังหารอยู่ในการควบคุมของมนุษย์ ในขณะที่หลายประเทศเรียกร้องให้ห้ามการพัฒนาระบบอาวุธนี้ขึ้นมา
สหรัฐให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่ายังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาห้ามการพัฒนาระบบอาวุธนี้ ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสไม่อยากออกกฎหมายใหม่ในเรื่องนี้
Thomas Nash ผู้อำนวยการของกลุ่ม Article 36 บอกว่าการแสดงความคิดเห็นในวันเปิดประชุมเป็นไปในทางที่ดี เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และยกตัวอย่างการใช้เครื่องบินไร้คนขับ หรือ Drone ในการโจมตีที่กำลังแพร่หลายเป็นอย่างมาก
ผู้อำนวยการของกลุ่ม Article 36 กล่าวต่อไปว่าที่กำลังพยายามทำกันในเวลานี้ คือพยายามที่จะให้มีการควบคุมการใช้ Drone ก่อนที่จะตกอยู่ในสภาพของการมีระบบอาวุธสังหารที่ไม่มีมนุษย์ควบคุมเลย
Article 36 เป็นกลุ่มหนึ่งในหลายๆ กลุ่มที่ร่วมกันจัดตั้ง Campaign to Stop Killer Robots หรือการรณรงค์เพื่อยับยั้งการพัฒนาระบบหุ่นยนต์สังหารขึ้นมา
รายงานของ Human Rights Watch ระบุความห่วงกังวลทางด้านกฎหมาย คุณธรรม เทคนิค และการปฏิบัติงานของระบบหุ่นยนต์สังหารที่อาจเลือกและโจมตีเป้าหมายโดยไม่ต้องมีการควบคุมโดยมนุษย์
Bonnie Doeherty หัวหน้าคณะผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า ถ้าไม่มีการรับภาระความรับผิดชอบ คนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผู้ผลิต และบุคลากรทางการทหารจะไม่ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่ทำให้มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากระบบหุ่นยนต์สังหาร
หัวหน้าคณะผู้เขียนรายงานฉบับนี้ของ Human Rights Watch กล่าวว่า การรับภาระความรับผิดชอบไม่ได้เป็นแค่ประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างมากต่อผู้รับเคราะห์และสังคม ถ้าไม่มีการรับภาระความรับผิดชอบ ก็จะไม่มีเครื่องยับยั้งการกระทำผิดอีกในอนาคต ผู้รับเคราะห์ไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่มีการประณามการกระทำผิดทั้งในทางสังคมและศีลธรรม
Jody Williams ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับการทำงานต่อต้านกับระเบิด กล่าวว่าต้องยับยั้งการพัฒนาระบบหุ่นยนต์สังหารไม่ให้เกิดขึ้นมาได้
นักต่อสู้เพื่อสันติภาพผู้นี้เปรียบเทียบระบบหุ่นยนต์สังหารกับระเบิดปรมาณูและดินปืน และว่าการพัฒนาระบบอาวุธนี้เป็นการถอยหลังเข้าคลองทั้งทางศีลธรรมและคุณธรรม ในขณะที่สหรัฐและอังกฤษโต้แย้งว่าเป็นการกระโดดก้าวหน้าครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม Jody Williams นักต่อสู้เพื่อสันติภาพให้ความเห็นส่งท้ายว่า การพัฒนาระบบหุ่นยนต์สังหารไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เธอยกตัวอย่างว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วชาติสมาชิก 120 ประเทศของ Convention on Conventional Weapons ลงมติห้ามการผลิตอาวุธแสงเลเซอร์ที่ทำให้ตาพิการได้