Your browser doesn’t support HTML5
สองประเทศมหาอำนาจที่กำลังทำสงครามการค้ากันอยู่อย่าง สหรัฐอเมริกา และจีน แสดงความจำนงที่จะลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยการไกล่เกลี่ย (UN Convention on International Settlement Agreements Resulting from Mediation) ที่ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ตามรายงานของสื่อสิงคโปร์ Channel News Asia และ The Strait Times
อนุสัญญาดังกล่าว มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า อนุสัญญาสิงคโปร์ว่าด้วยการไกล่เกลี่ย (Singapore Convention on Mediation) ที่ตั้งขึ้นเพื่อยกย่องสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่างและจัดทำอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อช่วยให้การบังคับใช้ข้อตกลงเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ในปัจจุบัน การไกล่เกลี่ยเป็นทางเลือกหนึ่งในการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้ไกล่เกลี่ยเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือ เสนอแนะ หาทางออกในการยุติหรือระงับข้อพิพาทให้คู่กรณี แต่หากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ทำตามข้อตกลง ประเทศคู่กรณีก็ไม่สามารถทำอะไรได้
การบังคับใช้ จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ยังขาดหายไปในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ
นอกจากการไกล่เกลี่ย ประเทศคู่กรณีอาจจะเลือกใช้วิธีอื่นในการหาข้อยุติ เช่น อนุญาโตตุลาการ หรือการนำคดีขึ้นสู่การพิจาณาพิพากษาของศาล
นาย เค ชันมุกาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมของสิงคโปร์ กล่าวในวันจันทร์ว่าสหรัฐฯ จีน และประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ 25 ประเทศ ต้องการจะลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว และจะมีประเทศเข้าร่วมพิธีลงนามทั้งหมดประมาณ 50 ประเทศ รวมทั้ง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเวียดนาม
นายชันมุกาม กล่าวว่า ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีการลงทุนมหาศาลในต่างประเทศ จึงเห็นความสำคัญของการมีกลไกหรือกระบวนการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการบังคับใช้ระงับข้อพิพาทต่าง ๆ
สิงคโปร์ใช้เวลาร่างและจัดทำอนุสัญญานี้ประมาณ 3 ปี หลังจากความพยายามครั้งก่อน ๆ ล้มเหลว ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอื่น ๆ ของสิงคโปร์ก็ได้เดินทางไปพบปะตัวแทนหลายประเทศเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสนับสนุนและลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้