ในขณะที่ความตึงเครียดว่าจะเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น บรรดาสื่อมวลชนส่วนใหญ่ต่างมุ่งประเด็นไปที่ผลกระทบในระยะสั้นต่อการค้าของสองประเทศ จากการตัดสินใจของผู้นำจีนและสหรัฐฯ
แต่นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ทั้งต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสองประเทศที่พึ่งพาอาศัยกันและกันมานานหลายสิบปี และต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ต้นตอของการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในขณะนี้ คือความพยายามของสหรัฐฯ ที่ต้องการกดดันให้จีนปรับนโยบายการค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่อื่นๆ กล่าวคือ ต้องการให้จีนยุติการอุดหนุนให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศ ยุติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้จีนเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
โดยสหรัฐฯ ใช้วิธีกดดันจีนในหลายด้าน รวมทั่้งโน้มน้าวให้ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ เลิกใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีของบริษัทโทรคมนาคมของจีนด้วย
แม้นักวิเคราะห์หลายคนต่างเชื่อว่า ผู้แทนของสองประเทศจะสามารถหาทางจัดทำข้อตกลงได้ก่อนที่มาตรการภาษีใหม่จะมีผล แต่ก็มีความกังวลยิ่งขึ้นเช่นกันว่า ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยังคงมีอยู่ต่อไปในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก
นักวิเคราะห์ระบุว่า เวลานี้หลายบริษัทได้เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายด้านห่วงโซ่อุปทานบ้างแล้ว เพื่อเตรียมรับมือกับสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และภาคการเกษตร
พอล ทรีโอโล แห่ง Eurasia Group กล่าวว่า บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งในสหรัฐฯ ได้เริ่มชะลอการลงทุนใหม่ๆ ในจีน และย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความที่พยายามวาดภาพให้เห็นว่าความตึงเครียดทางการค้าครั้งนี้จะต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ ซึ่งผู้บริโภคอเมริกันจำเป็นต้องเลือกระหว่างสินค้าที่ผลิตในจีน กับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ
แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า การโยงการค้าระหว่างสองประเทศไปเป็นเรื่องของการเมืองเช่นนั้นเป็นความมักง่ายเกินไปและอาจทำให้เกิดการตีความผิดๆ เกี่ยวกับการค้าโลกได้ เพราะในความเป็นจริง การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้่น เช่น สินค้าที่จีนส่งมาขายในสหรัฐฯ มิได้จำกัดอยู่แค่เสื้อผ้า ของเล่น หรือสินค้าราคาถูก แต่ยังรวมถึงสินค้าเทคโนโลยีที่อาจมีชิ้นส่วนสำคัญบางอย่างผลิตในสหรัฐฯ แล้วส่งออกไปยังจีน ก่อนที่จะนำไปประกอบแล้วส่งกลับมาขายในสหรัฐฯ อีกทีพร้อมประทับตราว่า "เมด อิน ไชน่า"
ในทางกลับกัน สินค้าที่บอกว่า "เมด อิน ยูเอสเอ" หลายชนิดก็อาจใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนเช่นกัน ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากห่วงโซ่อุปทานโลกที่พัฒนาความซับซ้อนมาตลอดหลายสิบปีนี้
นักวิเคราะห์เตือนว่า หากเกิดสงครามการค้าโลกขึ้นจริง ห่วงโซ่อุปทานนี้จะเกิดปัญหา ซึ่งอาจจำเป็นต้องเกิดการปรับโครงสร้างการผลิตทั้งหมดขึ้นใหม่ ที่อาจใช้เวลายาวนานและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกระดับ
Bilateral trade, intermediate goods
สำหรับสหรัฐฯ เอง นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Pantheon Macroeconomics คุณเอียน เชพเฟิร์ดสัน เตือนว่า การขึ้นอัตราภาษีเป็น 25% ต่อสินค้านำเข้าทั้งหมด จะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือมูลค่าจีดีพีของสหรัฐฯ ลดลงอย่างน้อย 0.6%
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์คาดหวังไว้ คือการที่บริษัทอเมริกันต่างๆ จะย้ายฐานการผลิตกลับมายังอเมริกาเพื่อลดต้นทุนด้านภาษีนั้น ผลที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบริษัทดังกล่าวได้เริ่มหรือกำลังจะเริ่มย้านโรงงานไปประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าแทน เช่น เวียดนาม และเม็กซิโก
อดีตรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ เฮนรี พอลสัน ให้สัมภาษณ์กับรายการ Face the Nation เมื่อวันอาทิตย์ เตือนว่าหากในที่สุดแล้ว จีนและสหรัฐฯ สามารถแยกตัวโดดเดี่ยวออกจากกันได้จริงๆ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ก็อาจส่งผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจสองระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น ภาคเทคโนโลยีของอเมริกาเองที่แม้จะได้รับการปกป้องจากนโยบายขึ้นภาษีของ ปธน.ทรัมป์ ก็อาจประสบปัญหาเรื่องการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะการลงทุนจากต่างชาติถูกจำกัด และไม่สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ง่ายอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ในด้านนี้ในอนาคต
ด้านคุณทรีโอโลแห่ง Eurasia Group ชี้ว่า เวลานี้หลายบริษัทเชื่อว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะเกิดขึ้นและกินเวลาราว 3-5 ปี ซึ่งนานพอที่จะให้บริษัทเหล่านั้นต้องพยายามปรับตัว
และว่าการที่ผู้นำสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การโจมตีระบบการเมืองของจีนที่ควบคุมทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลาง อาจนำไปสู่การ "ปะทะกันของอารยธรรม" ของสองประเทศที่อยู่คนละซีกโลก ซึ่งจะทำให้ความพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันของทั้งสองประเทศนี้ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมานั้น เป็นไปได้ยากยิ่ง!