นายกฯ อังกฤษ ปลด ‘รมว.คลัง’ เพื่อลดแรงเสียดทานการเมือง

BRITAIN-POLITICS/

นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ แห่งอังกฤษ สั่งปลดรัฐมนตรีคลังในวันศุกร์ พร้อมสั่งยกเลิกแผนงานพยุงเศรษฐกิจบางส่วน เพื่อหวังที่จะลดแรงกดดันต่อรัฐบาลพร้อม ๆ กับช่วยแก้ปัญหาความวุ่นวายในตลาดทุนและภาคการเมืองของอังกฤษในเวลานี้ ตามรายงานของรอยเตอร์

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษ ควาซี ควอร์เทง เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตนได้ยื่นใบลาออกตามคำขอของนายกฯ ทรัสส์ หลังจากถูกบีบให้เร่งเดินทางกลับจากการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในกรุงวอชิงตัน และถึงกรุงลอนดอนเมื่อคืนก่อนหน้า

Britain's former Chancellor of the Exchequer Kwasi Kwarteng waves to the media as he leaves 11 Downing Street after being sacked by the Prime Minister Liz Truss in London.

นายกฯ อังกฤษ ซึ่งเพิ่งก้าวขึ้นรับตำแหน่งได้เพียง 37 วัน จัดงานแถลงข่าวและประกาศว่า เธอจะอนุญาตอัตราค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักรายการหนึ่งให้ปรับขึ้นเพื่อช่วยระดมเงินราว 18,000 ล้านปอนด์ พร้อมชี้ว่า ตัวเธอได้พยายามทำทุกอย่าง “ให้มากและเร็ว” กว่าที่ตลาดคาดหวังแล้ว

นายกฯ ทรัสส์ กล่าวว่า “เราต้องลงมือทำวันนี้ เพื่อช่วยให้ตลาดมั่นใจในวินัยการคลังของเรา”

ผู้นำรัฐบาลอังกฤษยังได้แต่งตั้ง เจเรมี ฮันท์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและสาธารณสุข ให้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ควอร์เทง

รายงานข่าวระบุว่า อดีตรัฐมนตรีคลังทวีตว่า ในจดหมายลาออกที่ยื่นให้นายกฯ ทรัสส์ เขาได้เขียนว่า “คุณขอให้ผมยืนเคียงข้างคุณในฐานะรัฐมนตรี ผมก็ยอมรับ” ขณะที่ นายกฯ หญิงอังกฤษตอบว่า “ในฐานะเพื่อนและเพื่อนร่วมงานที่อยู่ด้วยกันมานาน ดิฉันรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่จะต้องปล่อยคุณไปจากรัฐบาล”

อดีตรมต.ควอร์เทง คือ รัฐมนตรีคลังที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1970 มา และผู้ที่มารับหน้าที่ต่อนั้นจะเป็นรัฐมนตรีคลังคนที่ 4 ในรอบหลายเดือนของอังกฤษ ในช่วงที่ประชาชนนับล้านกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตค่าครองชีพอยู่

ก่อนหน้านี้ อดีตรัฐมนตรีคลังคนที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดนั้น มีสาเหตุเพราะการเสียชีวิตของเจ้าตัว

หลังคำประกาศของผู้นำอังกฤษ ค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 1.2% ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษอายุ 2 ปีพลิกกลับเป็นลบทันที

นายกฯ ทรัสส์ ชนะใจสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมจนก้าวขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้เมื่อเดือนที่แล้ว ด้วยการสัญญาที่จะลดภาษีหลายรายการและลดกฎเกณฑ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซามาหลายปี ก่อนที่ อดีตรมต.ควอร์เทง จะประกาศแผนนโยบายการคลังเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมาเพื่อทำทุกอย่างที่นายกฯ ประกาศไว้

แต่เสียงตอบรับจากตลาดกลับไม่เป็นดังหวัง จนธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อไม่ให้กองทุนบำนาญของประเทศตกเป็นเหยื่อความวุ่นวายดังกล่าว ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านพุ่งสูง

ทั้งนายกฯ ทรัสส์ และอดีตรมต.ควอร์เทง ตกเป็นเป้าถูกกดดันอย่างหนักให้เลิกแผนงานที่ประกาศไว้ หลังมีผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนไม่สนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยมแล้ว ซึ่งทำให้คนในพรรคหลายคนเริ่มหาทางกำจัดนายกฯ หญิงคนนี้

จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นายกฯ ทรัสส์ ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันล้มครืนลง ถ้าเธอไม่สามารถหาแผนลดค่าจ่ายพร้อม ๆ กับการปรับขึ้นภาษีที่ถูกใจนักลงทุน และได้รับเสียงมติสนับสนุนจากสภาสามัญชนของอังกฤษได้

ทั้งนี้ สิ่งที่นายกฯ อังกฤษต้องทำให้สำเร็จนี้เป็นสิ่งที่ยากกว่าที่พูด เพราะรัฐบาลสั่งตัดงบหน่วยงานต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายปี

นอกจากนั้น สภาพการณ์ภายในพรรคอนุรักษ์นิยมของเธอเองก็ไม่ค่อยดี เพราะมีความแตกแยกอย่างหนักตั้งแต่เรื่องการถอนอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ไปจนถึงเรื่องการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 และวิธีการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ

สมาชิกสภาอังกฤษรายหนึ่งที่สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัวตน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของนายกฯ ทรัสส์ นั้นสร้างความเสียหายหนักมากเสียจนบรรดานักลงทุนอาจขอให้มีการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้หนักขึ้นเพื่อฟื้นฟูความมั่นใจอีกครั้ง

โซนาลี ปันหานิ นักเศรษฐศาสตร์จาก Credit Suisse ให้ความเห็นว่า รัฐบาลอังกฤษต้องหาเงินให้ได้ราว 60,000 ล้านปอนด์ จากการยกเลิกแผนการลดภาษีและการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐให้มากขึ้น

  • ที่มา: รอยเตอร์