ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สำรวจนโยบาย “ลิซ ทรัสส์” ผู้นำอังกฤษคนใหม่ 


New British PM Truss in Downing Street in London
New British PM Truss in Downing Street in London

วันอังคารนี้เป็นวันแรกที่ลิซ ทรัสส์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ หลังคว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมมาได้ โดยขึ้นมารับตำแหน่งแทนที่บอริส จอห์นสัน

รอยเตอร์รวบรวมนโยบายที่ทรัสส์เคยนำเสนอในช่วงศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคดังต่อไปนี้

ด้านการต่างประเทศ

- เพิ่มงบป้องกันประเทศขึ้นเป็น 3% ของจีดีพี ภายในปี 2030 จากที่กำหนดในปีนี้ที่ 2.3% ของจีดีพี

- ติดต่อประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ในฐานะผู้นำต่างชาติคนแรก หลังทรัสส์ดำรงตำแหน่งนายกฯ

- ร่วมมือกับชาติพันธมิตรจี 7 เพื่อเพิ่มการช่วยเหลือด้านการทหารและด้านมนุษยธรรมต่อยูเครน

- ให้อังกฤษมีบทบาทนำในแผนฟื้นฟูยูเครน

- ปรับนโยบายต่างประเทศของอังกฤษให้ทันสมัย รวมถึงให้ความสำคัญกับประเด็นจีนและรัสเซีย

- หาข้อตกลงการค้ากับสมาชิกเครือจักรภพเพื่อรับมือกับอิทธิพลการค้าของจีน

- ยกเลิกกฎหมายสหภาพยุโรปที่ยังใช้ในอังกฤษภายในปี 2023

- เพิ่มโครงการส่งผู้อพยพไปยังประเทศที่สาม

- ปฏิรูปอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป เพื่อประโยชน์ของอังกฤษ

Liz Truss policies
Liz Truss policies

ด้านเศรษฐกิจและนโยบายภายในประเทศ

- ทบทวนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ

- ไม่มีการปันส่วนการใช้พลังงาน

- สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันแบบ fracking ในพื้นที่ที่ประชาชนสนับสนุน

- สร้างเขตการลงทุนที่มีกฎระเบียบต่ำ

- กำหนดระดับการให้บริการขั้นต่ำต่อโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อประเทศ

- ปฏิรูปเงื่อนไขการขอกู้ซื้อบ้านเพื่อช่วยให้ผู้เช่าเข้าถึงตลาดที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น

- กระตุ้นให้ทางการท้องถิ่นสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้น และเร่งระบบแผนที่อยู่อาศัย

- ทบทวนว่าอังกฤษจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเกือบเป็นศูนย์ตามเป้าที่ตั้งไว้ในปี 2050 ได้อย่างไร โดยที่แผนดังกล่าวยังคง “เป็นมิตร” กับตลาดอังกฤษ

- ไม่มีการจัดประชามติเอกราชสกอตแลนด์ครั้งใหม่

- ออกโครงการปฏิรูปการศึกษา รวมถึงมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก

- ขยายโครงการแรงงานตามฤดูกาลชั่วคราว เพื่อรับรองว่าเกษตรกรจะเข้าถึงแรงงานในการทำเกษตรได้

- รับมือกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง รวมถึงการกำหนดบทลงโทษการคุกคามตามท้องถนน

- เพิ่มกองกำลังตามชายแดนขึ้น 20% และเพิ่มกองกำลังปกป้องน่านน้ำขึ้นสองเท่า

- ทบทวนประสิทธิภาพขององค์กรที่กำหนดเพดานค่าไฟและค่าน้ำ ได้แก่ Ofgem และ Ofwat


ด้านภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ

- ไม่ออกภาษีแบบใหม่

- เตรียมออกมาตรการช่วยครัวเรือนแบ่งเบาค่าพลังงาน

- ออกงบฉุกเฉินและทบทวนการใช้จ่ายภาครัฐ

- ยกเลิกการเพิ่มภาษีเงินได้ 1.25% ที่เคยกำหนดเพื่อเพิ่มงบสาธารณสุขและประกันสุขภาพ

- ยกเลิกแผนเพิ่มภาษีนิติบุคคล

- ประกาศผ่อนเวลาชำระภาษีสิ่งแวดล้อมและสังคมในใบเสร็จค่าไฟ

- ไม่นำมาตรการภาษีต่ออาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมาใช้ และยกเลิกมาตรการจำกัดโปรโมชั่นกระตุ้นการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน เกลือ หรือน้ำตาลสูง

- ทบทวนภาษีที่ภาคครัวเรือนต้องจ่าย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระภาษีในยามที่สมาชิกครอบครัวไม่สามารถทำงานได้เพื่อดูแลเด็ก ๆ หรือญาติ

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG