Your browser doesn’t support HTML5
ผู้ประกอบการในอังกฤษหวั่นการปรับนโยบายผู้อพยพใหม่หลังการแยกตัวจากสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิต อาจทำให้หลายภาคส่วนขาดแคลนแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวแทนภาคการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม และสถานดูแลผู้สูงอายุในอังกฤษ ต่างแสดงความกังวลว่าจะเกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในธุรกิจเหล่านี้ เนื่องจากการปรับนโยบายผู้อพยพใหม่หลังเบร็กซิต ที่เปิดทางให้กับแรงงานที่มีทักษะและการศึกษาสูง แต่ปิดโอกาสแรงงานที่มีทักษะต่ำให้ได้งานทำในอังกฤษ
นโยบายผู้อพยพอังกฤษที่จะได้เห็นในปีหน้า คือ ผู้อพยพที่เข้ามาพำนักและทำงานในอังกฤษได้จะต้องมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับที่กำหนด ต้องมีงานทำที่ได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 25,600 ปอนด์ หรือราว 990,000 บาทต่อปี แต่ถ้างานที่ทำมีรายได้น้อยกว่านั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน เช่น ด้านสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้กับผู้ลี้ภัย นักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน และนักกีฬา และจะไม่มีการให้วีซ่าสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ หรือผู้ขอวีซ่าสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และต้องรอการลงมติให้เป็นกฏหมายก่อนสิ้นปีนี้
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ให้มุมมองถึงนโยบายผู้อพยพใหม่นี้ว่า เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง จากที่เคยพึ่งพาแรงงานราคาถูกจากยุโรป และเป็นจังหวะที่ธุรกิจต่างๆ ต้องลงทุนกับเทคโนโลยีและระบบจักรกลมากขึ้น
อังกฤษแยกตัวจากการเป็นสมาชิกอันยาวนานถึง 47 ปี กับสหภาพยุโรปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะนโยบายผู้อพยพใหม่นี้ ส่งผลต่อแรงงานไร้ฝีมือจากสหภาพยุโรปราว 70% ของแรงงานจากอียูกว่า 1 ล้านคน ที่เข้ามาทำงานในอังกฤษก่อนปี 2004 โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ บริการด้านสุขภาพ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม