รายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มที่มากเกินระดับที่แนะนำถึงสองเท่ามีความเชื่อมโยงกับระดับไอคิวของเด็กที่อาจลดลง
รายงานของโครงการพิษวิทยาแห่งชาติ (National Toxicology Program) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชน วิเคราะห์ผลการวิจัยก่อนหน้านี้และสรุปเป็นครั้งแรก "ด้วยความมั่นใจระดับปานปลาง" ว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างการได้รับสารฟลูออไรด์ในปริมาณสูงกับระดับไอคิวของเด็ก
แม้รายงานชิ้นนี้มิได้จัดทำขึ้นเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของสารฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม แต่ก็ถือเป็นท้าทายความรู้จากความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการได้รับปริมาณฟลูออไรด์มากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่การถกเถียงครั้งใหญ่ในวงการสาธารณสุขได้
ที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ชี้ว่า สารฟลูออไรด์ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับฟันและช่วยลดการเกิดหินปูนได้ โดยทางการสหรัฐฯ ได้ใช้วิธีเพิ่มฟลูออไรด์ระดับต่ำในน้ำประปาซึ่งถูกมองว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี
แอชลีย์ มาลิน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา (University of Florida) ผู้ศึกษาผลกระทบของฟลูออไรด์ต่อสตรีตั้งครรภ์และเด็ก เชื่อว่า "รายงานนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความรู้ความเข้าใจของเรา"
รายงานที่เผยแพร่ในวันพุธ รวบรวมข้อมูลการวิจัยจากแคนาดา จีน อินเดีย อิหร่าน ปากีสถานและเม็กซิโก และสรุปว่า น้ำดื่มที่มีสารฟลูออไรด์ผสมมากกว่า 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร มีความเชื่อมโยงกับระดับไอคิวที่ลดลงของเด็ก
รายงานชิ้นนี้มิได้ระบุชัดเจนว่าระดับไอคิวที่อาจลดลงนั้นมากน้อยแค่ไหนจากการได้รับฟลูออไรด์ในระดับต่าง ๆ แต่รายงานวิจัยบางชิ้นก่อนหน้านี้เคยบอกไว้ว่า ระดับไอคิวอาจลดลงประมาณ 2-5 จุดสำหรับเด็กที่ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป
ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯ แนะนำระดับสารฟลูออไรด์ในน้ำดื่มว่าไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ในช่วง 50 ปีก่อนหน้านั้น ระดับที่แนะนำอยู่ที่ 1.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ระดับที่ปลอดภัยคือไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
รายงานบอกด้วยว่า ราว 0.6% ของประชากรอเมริกัน หรือประมาณ 1.9 ล้านคน ใช้ระบบน้ำประปาที่มีปริมาณฟลูออไรด์ตามธรรมชาติในระดับ 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม รายงานความยาว 324 หน้าชิ้นนี้มิได้สรุปถึงความเสี่ยงของการได้รับฟลูออไรด์ในระดับต่ำ และมิได้ตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อผู้ใหญ่ โดยชี้ว่าต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ ฟลูออไรด์คือแร่ธาตุตามธรรมชาติที่ปรากฎอยู่ในแหล่งน้ำและดิน เมื่อราว 80 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งค้นพบว่า ผู้คนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำดื่มที่มีปริมาณฟลูออไรด์ผสมในระดับสูงมีปริมาณหินปูนในฟันน้อยกว่าปกติ นำไปสู่การรณรงค์ให้ประชาชนใช้สารฟลูออไรด์ในการดูแลสุขภาพฟัน
ต่อมาในปี 1945 เมืองแกรนด์ราปิดส์ รัฐมิชิแกน เป็นเมืองแรกในสหรัฐฯ ที่เริ่มโครงการเติมสารฟลูออไรด์ลงในน้ำประปา และในปี 1950 รับบาลกลางสหรัฐฯ อนุมัติให้สามารถเติมฟลูออไรด์ในน้ำประปาเพื่อช่วยป้องกันฟันผุได้ และใช้วิธีนี้เรื่อยมาแม้ในช่วงที่มีการผลิตยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ออกสู่ตลาดแล้วก็ตาม
- ที่มา: เอพี