ในวันเลือกตั้งที่ชาวอเมริกันใจจดใจจ่อรอฟังผลว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป บริษัทอินเตอร์เน็ตเช่นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ต่างยกระดับการเฝ้าติดตามและกลั่นกรองการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารมากเป็นพิเศษ หลังจากที่บริษัทเหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่า ปล่อยให้ผู้ใช้งานที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศปล่อยข่าวบิดเบือนในช่วงการเลือกตั้งเมื่อสี่ปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์มองว่า บริษัทต่างๆ เริ่มรับมือกับการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้นเมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และใช้วิธีดูแลเนื้อหาอย่างทันท่วงทีมากขึ้น เช่น ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการดูแลเนื้อหา
สแปนดานา ซิงห์ นักวิเคราะห์นโยบายประจำสถาบัน New America’s Open Technology Institute มองว่า บริษัทอินเตอร์เน็ตนำเทคนิควิธีที่ใช้รับมือข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสมาใช้กับการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน แต่นั่นก็เท่ากับว่า บริษัทเหล่านี้ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะเดินหน้าหยุดการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนต่อไป หรือจะอนุญาตให้ผู้ใช้งานแสดงความเห็นของตนซึ่งอาจมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องเท็จ
ในประเด็นนี้ ซิงห์มองว่า บริษัทอินเตอร์เน็ทมีวิธีดูแลเนื้อหาอย่างแยบยลมากขึ้นกว่าการเอาเนื้อหาออกจากพื้นที่ของตน เช่น ขึ้นแถบแจ้งผู้ใช้งานว่าเนื้อหาดังกล่าวมีประเด็นน่ากังขา อย่างไรก็ตาม ซิงห์กล่าวว่า บริษัทเหล่านี้ไม่ได้เปิดเผยวิธีการกรองข้อมูลอย่างโปร่งใส ทำให้เราไม่ทราบเลยว่าบรรดาบริษัทพร้อมรับมือกับข้อมูลบิดเบือนในวันเลือกตั้งได้จริงหรือไม่
สำหรับวิธีที่บริษัทอินเตอร์เน็ตนำมาใช้ในช่วงเลือกตั้งนั้น เช่น ทวิตเตอร์ได้ขึ้นแถบเตือนบนทวีตบางข้อความที่อาจเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ยังไม่แน่ชัด และหากผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทวีตข้อความประกาศชัยชนะก่อนที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง จะถูกขึ้นแถบเตือน เช่น “แหล่งข้อมูลทางการระบุถึงผลการเลือกตั้งต่างไปจากนี้” หรือ “แหล่งข้อมูลทางการอาจไม่ระบุผล ณ เวลาที่มีการทวีตข้อความนี้” โดยทวิตเตอร์ตจะใช้มาตรการขึ้นแถบเตือนกับผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในสหรัฐฯ ที่มียอดผู้ติดตามมากกว่า 100,000 คนด้วยเช่นกัน
ทวิตเตอร์ระบุด้วยว่า ทางบริษัทจะอ้างอิงผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากแต่ละรัฐ หรือข้อมูลจากสื่อระดับประเทศที่ติดตามผลการเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระอย่างน้อยสองเจ้า เช่น สำนักข่าวเอบีซีนิวส์ สำนักข่าวเอพี สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น และสำนักข่าวฟอกซ์ นิวส์
ทางด้านเฟซบุ๊กก็กล่าวว่า บริษัทจะใช้วิธีที่เรียกว่า “break-glass options” หรือวิธีทุบกระจก เพื่อรับมือข้อมูลบิดเบือนโดยไม่ได้อธิบายว่าวิธีดังกล่าวคืออะไร อย่างไรก็ตาม สื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่าเฟซบุ๊กอาจใช้วิธีที่เคยใช้มาแล้วในศรีลังกาและเมียนมาร์ เช่น การระงับแฮชแท็กที่เกี่ยวกับข้อมูลเท็จของผลการเลือกตั้ง หรือระงับโพสที่ได้รับความนิยมแต่เผยแพร่เนื้อหาที่รุนแรงหรือเผยแพร่ข่าวเท็จ
ซิงห์ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบททดสอบของนโยบายและวิธีการปฏิบัติดูแลพื้นที่ออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากวิธีเหล่านั้นได้ผล ก็อาจมีการนำวิธีดังกล่าวไปปรับใช้ทั่วโลก
ทางด้านแชนนอน แม็คเกรเกอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา แชเปิลฮิลล์ ระบุว่า ปัญหาของข้อมูลบิดเบือนออนไลน์คือ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเผยแพร่ก่อนที่เจ้าของพื้นที่เหล่านั้นจะตัดสินใจดำเนินการกับข้อมูล เธอยังกังวลด้วยว่า บริษัทเหล่านี้จะดำเนินการได้ทันท่วงทีหรือไม่ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์หลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร