สถิติการลักลอบค้าสัตว์ป่าพุ่งสูงตามกระแสความนิยมเลี้ยงเต่าทั่วโลก

Wildlife Conference Turtle Poaching

ความต้องการเต่าเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ เอเชีย และยุโรป ได้นำไปสู่การลักลอบล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมายที่พุ่งสูงตามไปด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสัตว์ป่าเชื่อว่าการลักลอบล่าสัตว์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เต่าน้ำจืดและเต่าหายากทั่วโลกมีจำนวนลดลงไปอีก และความกังวลดังกล่าวได้นำไปสู่การเสนอให้การเพิ่มการคุ้มครองเต่าน้ำจืดแล้ว

ตัวแทนจากกว่า 180 ประเทศได้รวมตัวกันเมื่อไม่นานมานี้ที่ประเทศปานามา ในการประชุมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน

ในขณะที่ หลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของกระแสนิยมนี้ ยังไม่มีใครสามารถตรวจสอบและยืนยันตัวเลขที่แน่นอนในการค้าขายเต่า โดยเฉพาะในส่วนของการค้าที่ผิดกฎหมาย

ทารา อีสเตอร์ (Tara Easter) นักศึกษาระดับปริญญาเอกจาก University of Michigan ซึ่งศึกษาในเรื่องของการค้าและได้ตรวจดูข้อมูลการค้าเต่าจากองค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ (US Fish and Wildlife Service) ก่อนจะประเมินว่า ธุรกิจการส่งออก ‘เต่าโคลน’ ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 1,844 ตัวในปี 1999 เป็นเกือบ 40,000 ตัวในปี 2017 ส่วนการค้า ‘เต่ามัสก์’ เพิ่มขึ้นจาก 8,254 ตัวในปี 1999 เป็นมากกว่า 281,000 ตัวในปี 2016

Wildlife Conference Turtle Poaching

กลุ่มนักชีววิทยาที่มาจากรัฐ รัฐบาลกลาง และชนเผ่าต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับการค้าเต่าที่ผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่จะทำงานเพื่อต่อต้านการลักลอบจับเต่าในอเมริกาเหนือ และตั้งแต่ปี 2018 มานั้น มีการบันทึกคดีลักลอบค้าเต่าที่ผิดกฎหมายอย่างน้อย 30 คดีใน 15 รัฐ ซึ่งบางคดีมีการค้าขายเต่าไม่ถึง 50 ตัว ส่วนคดีอื่น ๆ จะค้าขายกันหลายพันตัว

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางในรัฐนอร์ทแคโรไลนาได้ตัดสินจำคุกชายคนหนึ่งเป็นเวลา 18 เดือนและปรับเป็นเงิน 25,000 ดอลลาร์ในข้อหาลักลอบค้าเต่า ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายเลซีย์ (Lacey Act) หรือกฎหมายที่ว่าด้วยการห้ามลักลอบค้าปลา สัตว์ป่า หรือพืชที่ได้มา ถือครอง ขนส่ง หรือขายอย่างผิดกฎหมาย

ชายคนดังกล่าวค้า ‘เต่าหับ’ 722 ตัว ‘เต่าลายจุด’ 122 ตัว และ ‘เต่าไม้’ 3 ตัวเพื่อส่งไปตลาดในเอเชีย เพื่อแลกกับเงินกว่า 120,000 ดอลลาร์ ขณะที่ เต่าเหล่านั้นมีมูลค่าในตลาดถึง 1.5 ล้านดอลลาร์ในเอเชีย

Wildlife Conference Turtle Poaching

อย่างไรก็ตาม เต่าน้ำจืดเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกลักลอบค้าขายมากที่สุดในโลก พวกมันตกเป็นเป้าหมายของเครือข่ายอาชญากรที่ติดต่อกับผู้ซื้อทางอินเทอร์เน็ต โดยพวกเขาขนส่งเต่าไปยังตลาดมืดในฮ่องกงและที่อื่น ๆ ในเอเชีย จากนั้น พวกมันจะถูกนำไปขายเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง สะสม เพาะพันธุ์ เป็นอาหาร และใช้ทำยาแผนโบราณ

ทั้งนี้ ในหลาย ๆ ประเทศยังไม่มีกฎหมายควบคุมการค้าดังกล่าว

ธุรกิจการค้าเต่านั้นทำกำไรได้สูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเต่าบางชนิดถูกเสาะแสวงหาเพราะสีสันสวยงามแปลกตาของพวกมัน และสามารถขายได้ตัวละหลายพันดอลลาร์ในเอเชีย

การค้าดังกล่าวนี้เป็นการเพิ่มภัยคุกคามที่เต่าต้องเผชิญอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำลายสิ่งแวดล้อม และสัตว์อื่น ๆ ที่กินไข่ของพวกมัน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้ลอบล่าสัตว์นั้นสร้างปัญหาหนักกว่าเดิมเพราะพวกเขามุ่งเป้าไปที่เต่าชนิดหายากซึ่งเป็นตัวเมียที่โตเต็มวัยแล้ว

เดฟ คอลลินส์ (Dave Collins) ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์เต่าในอเมริกาเหนือขององค์กร Turtle Survival Alliance กล่าวว่า “การสูญเสียเต่าที่โตเต็มวัย โดยเฉพาะตัวเมีย ทำให้เต่ามีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ไม่สามารถแก้ไขได้”

Wildlife Conference Turtle Poaching

สหรัฐฯ และหลาย ๆ ประเทศในแถบละตินอเมริกาได้เสนอให้มีการห้ามหรือจำกัดการค้าเต่ามากกว่า 20 สายพันธุ์ในการประชุมไซเตส โดยประเทศต่าง ๆ ได้รวมข้อมูลจากประเทศเม็กซิโกซึ่งพบว่า มีเต่าเกือบ 20,000 ตัวถูกยึดในระหว่างปี 2010 ถึง 2022

นอกจากนี้ การค้าที่ผิดกฎหมายยังทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เสนอให้จดทะเบียนรายชื่อเต่า 42 ชนิดเป็นครั้งแรกภายใต้อนุสัญญาไซเตส ซึ่งรวมถึง ‘เต่ามัสก์’ ในอเมริกาเหนือ โดยการจดทะเบียนดังกล่าวหมายความว่า ผู้ค้าต้องมีใบอนุญาตสำหรับการค้าขายระหว่างประเทศ

แมทธิว สตริคเลอร์ ตัวแทนกระทรวงกิจการภายในและทรัพยากรธรรมชาติของสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมประชุมไซเตสที่ปานามา กล่าวว่า ข้อเสนอขึ้นทะเบียนเต่าดังกล่าวและการยกระดับการคุ้มครองเต่าในอเมริกาเหนือ “เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ” และว่า เป็นเพราะประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พร่องหายไปหมดแล้ว พวกนักล่าสัตว์ป่าจึงย้ายไปทำมาหากินต่อที่แอฟริกา และในเวลานี้ ก็กำลังค่อย ๆ ขยับมาที่อเมริกาแล้ว

  • ที่มา: เอพี