Your browser doesn’t support HTML5
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ 2 คน และบริษัทต่างๆ อีกเกือบ 100 แห่ง ยื่นคำร้องต่อศาลในนครซานฟรานซิสโก เพื่อให้ยังยั้งคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ห้ามผู้อพยพและพลเมืองจากประเทศมุสลิม 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ ชั่วคราว
วันนี้กลุ่มนักการเมืองของพรรคเดโมแครต ซึ่งรวมถึงอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น แครี่ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ แมดเดอลีน อัลไบร์ท ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้ยับยั้งคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ห้ามผู้อพยพและพลเมืองจากประเทศมุสลิม 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ ชั่วคราว
โดยในคำร้องระบุว่า “คำสั่งดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น เกิดขึ้นอย่างผิดพลาด ขาดเหตุผลและคำอธิบายที่ดี” และว่า “คำสั่งนี้ถือเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ มากกว่าจะทำให้เกิดความปลอดภัย”
นอกจากนักการเมืองระดับสูงเหล่านี้แล้ว บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อีก 97 แห่ง รวมถึง Apple Facebook Google Microsoft และ Twitter ต่างรวมตัวกันยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 นครซานฟรานซิสโก ในกรณีเดียวกัน
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น James Robart แห่งรัฐวอชิงตันทางภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ได้มีคำตัดสินยับยั้งคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ชั่วคราว ซึ่งคำสั่งฝ่ายบริหารหรือ Executive Order ที่ว่านี ห้ามผู้ลี้ภัยและพลเมืองจากประเทศมุสลิม 7 ประเทศ คือ อิรัก อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมน เดินทางเข้ามายังสหรัฐฯ ชั่วคราว
และในวันอาทิตย์ ศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธคำขอของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้นำคำสั่งที่ว่านี้กลับมาใช้อีกครั้ง โดยกลุ่มองค์กรหรือปัจเจกบุคคลต่างๆ มีเวลาจนถึงวันจันทร์นี้ในการยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งมีอำนาจครอบคลุมตลอดแนวชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐฯ
คาดว่าคณะตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งมี 3 คน จะมีคำตัดสินออกมาหลังจากผ่านเส้นตายวันจันทร์นี้ไปแล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเชื่อว่า กรณีนี้มีโอกาสถูกส่งต่อไปยังตุลาการศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เพื่อให้พิจารณาในที่สุด
เมื่อวันอาทิตย์ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความตำหนิการทำงานของผู้พิพากษา James Robart แห่งรัฐวอชิงตัน โดยบอกว่า “ผู้พิพากษาผู้นี้กำลังเปิดประเทศต้อนรับคนที่อาจเป็นผู้ก่อการร้าย หรือคนที่ไม่ใส่ใจต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ” และว่า “ผู้ไม่ประสงค์ดีกับอเมริกากำลังลิงโลด”
แต่ทางวุฒิสมาชิก มิทช์ แม็คคอนแนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวกับ CNN เมื่อวันอาทิตย์ว่า “แม้ว่าอเมริกาต้องการสกัดกั้นไม่ให้ผู้ก่อการร้ายเข้าประเทศ แต่อเมริกาก็ไม่สามารถปิดพรมแดนเพื่อไม่ให้คนเดินทางเข้ามาได้ และอเมริกายิ่งไม่ต้องการกีดกันพันธมิตรมุสลิมที่ร่วมต่อสู้เคียงข้างกันไม่ให้เข้าประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการออกคำสั่งต่างๆ และต้องระมัดระวังในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษาด้วย”
หลังคำตัดสินของผู้พิพากษา James Robart ที่ให้ยับยั้งคำสั่งฝ่ายบริหารเรื่องการห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทางด้านสำนักงานปกป้องชายแดนและศุลกากรของสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการเข้าสหรัฐฯ และมีวีซ่าถูกต้อง สามารถเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ ได้อีกครั้ง
แต่มีผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียราว 140 คนที่ยังไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์มีคำสั่งออกมา และขณะนี้ได้ถูกส่งตัวกลับไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในเคนย่าโดยที่ยังไม่ทราบชะตากรรม