Your browser doesn’t support HTML5
จีนอนุมัติจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใหม่ทีเดียวถึง 38 เครื่องหมายการค้า ให้แก่อาณาจักรธุรกิจ "Trump Organization" เป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา
และหากไม่มีใครคัดค้าน การจดทะเบียนนี้จะได้รับอนุมัติอย่างทางการหลังครบ 90 วัน
ทนายความของทรัมป์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ในช่วงที่ทรัมป์กำลังลงเเข่งชิงตำเเหน่งตัวเเทนการเลือกตั้งของพรรครีพับลีกัน ธุรกิจที่ยื่นจดทะเบียน มีทั้งธุรกิจโรงเเรม ร้านอาหาร กอล์ฟคลับ อสังหาริมทรัพย์ ไฟเเนนซ์ เเละบริการเพื่อนเข้าสังคม
การที่จีนอนุมัติจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำนวนมากในคราวเดียวกันให้เเก่ Trump Organization ไม่นานหลังจากที่เขาขึ้นดำรงตำเเหน่ง ปธน.สหรัฐฯ สร้างความกังขารอบใหม่เเก่บรรดาองค์กรตรวจสอบด้านจริยธรรมและการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่วิจารณ์ว่าธุรกิจของผู้นำสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ที่ขัดกับตำเเหน่งผู้นำประเทศและขัดต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ จีนยังอนุมัติการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแก่ธุรกิจการบริการด้านการก่อสร้าง แก่อาณาจักร Trump organization อีกด้วย หลังจากที่ต้องต่อสู้ทางกฏหมายมานาน 10 ปี
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมและการทำงานของผู้นำสหรัฐฯ กลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า "การอนุมัติของจีนต่อคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของทรัมป์แบบเอาใจนี้ เป็นเครื่องยืนยันข้อโต้เเย้งที่พวกเขายกขึ้นว่า รัฐบาลต่างประเทศที่ต้องการเอาใจผู้นำสหรัฐฯ จะยอมปฏิบัติอย่างเข้าข้างต่อธุรกิจของ ปธน.สหรัฐฯ"
อย่างไรก็ตาม บรรดาตัวเเทนจากอาณาจักรธุรกิจ Trump Organization กล่าวว่า "การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อให้ทันต่อกฏหมายนานาชาติ"
ข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ได้กลายเป็นข้อฟ้องร้องกันในศาลรัฐบาลกลางในนิวยอร์ก ตั้งเเต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ไม่กี่วันหลังจาก ปธน.ทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำเเหน่ง
โดยองค์กรตรวจสอบด้านจริยธรรมของรัฐบาล Citizens for Responsibility and Ethics ในกรุงวอชิงตัน หรือ CREW เป็นผู้ยื่นฟ้อง
คำฟ้องร้องขององค์กร CREW กล่าวหาว่า "การทำธุรกิจของ ปธน. ทรัมป์ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนนับไม่ถ้วน และได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลต่างชาติหลายรัฐบาลอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"
ทีมทนายความของฝ่ายฟ้องร้องชี้ว่า "การเเข่งขันหาผลประโยชน์ทางธุรกิจของ ปธน.ทรัมป์ ละเมิดต่อบทบัญญัติเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้รับภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลรับสิ่งของที่มีมูลค่าใดๆ จากรัฐบาลต่างชาติ"
นาย Norman Eisen อดีตที่ปรึกษาด้านจริยธรรมของปธน. Barack Obama ตั้งคำถามว่า "จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ปธน.ทรัมป์ จะให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ของประเทศหากมีผลประโยชน์ทางธุรกิจในต่างชาติ?" โดยยกตัวอย่าง การหยุดยั้งการไหลออกของตำเเหน่งงานจากสหรัฐฯไปยังจีน เป็นต้น
คำฟ้องร้องขององค์กร CREW ย้ำด้วยว่า ทรัมป์เก็บค่าลิขสิทธิ์จากรายการโชว์ทางโทรทัศน์อีกด้วย ซึ่งโชว์บางรายการออกอากาศทางสถานีที่รัฐบาลต่างชาติควบคุมหรือเป็นเจ้าของ
คำฟ้องร้องนี้ชี้ถึงตัวอย่างของธุรกิจของทรัมป์ในสก็อตเเลนด์ไปจนถึงอินโดนีเซีย ตุรกีและซาอุดิอาระเบีย คำฟ้องร้องขององค์กร CREW ยังกล่าวด้วยว่า "เมื่อใดก็ตามที่ปธน.ทรัมป์ นั่งโต๊ะเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศเหล่านี้ ชาวอเมริกันจะไม่มีวันรู้เลยว่าทรัมป์กำลังคิดถึงผลกำไรที่อณาจักรธุรกิจของเขาจะได้รับหรือไม่?"
ทางทำเนียบขาวได้ปฏิเสธไม่ยอมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ แต่ในอีเมล์ที่ส่งถึงวีโอเอ Amanda Miller โฆษกหญิงแห่ง Trump Organization กล่าวว่า "Trump Organization ได้พยายามบังคับใช้สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาในจีนมาตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และการอนุมัติจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งล่าสุดในจีน เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากความพยายามอย่างเเข็งขันและยาวนาน และการมองเรื่องนี้ในทางตรงกันข้าม เเสดงให้เห็นว่าขาดความเข้าใจในเรื่องกฏหมายนานาชาติเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า"
และคำฟ้องร้องขององค์กร CREW ยังเจอกับคำวิจารณ์จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมหัวอนุรักษ์อีกด้วย
Hadley Arkes อาจารย์แห่งสถาบันอเมริกันที่ Amherst College ในรัฐ Massachusetts กล่าวกับวีโอเอว่า "คำกล่าวหาว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนละเมิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ไม่มีเหตุผลเพียงพอและสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับ ปธน.คนปัจจุบัน เป็นการเฉพาะ
และทำให้เกิดความเข้าใจกันไปว่านักธุรกิจคนใดก็ตามที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ทำธุรกิจในจีน อาจจะถูกกล่าวหาว่าละเมิดต่อรัฐธรรมนูญหากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศ"
(รายงานโดย Pete Heinlein / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)