ทรัมป์เสนอชื่อผู้แทนพิเศษยูเครน-รัสเซีย ขณะปูตินขู่พร้อมถล่มเพื่อนบ้าน

แฟ้มภาพ - คีธ เคลลอกก์ ประธานร่วมของ Center for American Security ขึ้นให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน เมื่อ 28 ก.พ. 2566 ที่กรุงวอชิงตัน

ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชื่อผู้ที่ตนต้องการเสนอชื่อให้เป็นผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ด้านยูเครน-รัสเซีย ขณะที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศความพร้อมใช้อาวุธทุกประเภทถล่มยูเครน หากกรุงเคียฟได้รับความช่วยเหลือเป็นอาวุธนิวเคลียร์

ทรัมป์เสนอชื่อ พลตรีคีธ เคลลอกก์ อดีตนายทหารกองทัพสหรัฐฯ ให้มาเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีและผู้แทนพิเศษประจำยูเครนและรัสเซีย

พลตรีเคลลอกก์เคยทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลทรัมป์ในสมัยแรก และยังเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติให้กับอดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ด้วย

ว่าที่ปธน.สหรัฐฯ คนที่ 47 ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธว่า การเสนอชื่อพลตรีเคลลอกก์จะช่วยในแผนงานสร้างสันติภาพด้วยการแสดงความแข็งแกร่ง และทำให้อเมริกาและโลกทั้งโลกปลอดภัยอีกครั้ง

SEE ALSO: ทรัมป์ ‘กังวลอย่างมาก’ เกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พลตรีเคลลอกก์เคยให้สัมภาษณ์พิเศษกับ วีโอเอ ภาคภาษายูเครน เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการเรื่องการยุติสงครามในยูเครนที่มีการลงรายละเอียดไว้ในหนังสือที่ชื่อ “An America First Approach to U.S. National Security” โดยแนะนำว่า สหรัฐฯ ควรเริ่มหาทาง “ทำให้เกิดการหยุดยิงและมีการหาข้อยุติของความขัดแย้งยูเครนผ่านการเจรจา” อย่างเป็นทางการ และหากกรุงเคียฟยอมร่วมโต๊ะเจรจา สหรัฐฯ จะมอบอาวุธให้ใช้ป้องปรามการโจมตีจากรัสเซียทั้งในระหว่างและหลังบรรลุข้อตกลงดังกล่าว

เคลลอกก์ระบุไว้ในหนังสือข้างต้นด้วยว่า เพื่อโน้มน้าวให้รัสเซียยอมเจรจา สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้จะยอมเลื่อนการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรทางทหารนี้ไประยะหนึ่ง

และภายใต้ข้อตกลงที่อดีตนายทหารสหรัฐฯ ผู้นี้วาดฝันไว้ จะไม่ขอให้ยูเครนล้มเลิกความตั้งใจในการยึดดินแดนทั้งหมดคืนมาจากรัสเซีย แต่กรุงเคียฟควรยอมรับการใช้หนทางทางการทูตเท่านั้นในการแก้ไขปัญหา และระลึกไว้เสมอว่าการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกนานพอควร ในระหว่างที่มีการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจบางส่วนต่อรัสเซียเพื่อให้เครมลินยอมก้าวเข้าสู่ข้อตกลงสันติภาพ

ปูตินขู่พร้อมถล่มยูเครน

ขณะเดียวกันในวันพฤหัสบดี ปธน.ปูติน กล่าวว่า รัสเซียจะใช้อาวุธทั้งหมดของตนที่มีในการถล่มยูเครน หากกรุงเคียฟจัดหาอาวุธนิวเคลียร์มาเสริมกำลังสำเร็จ ตามรายงานของรอยเตอร์

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลชาติตะวันตกที่ไม่ขอระบุตัวตนเสนอประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนใช้งาน ก่อนหมดวาระการเป็นผู้นำทำเนียบขาว

ภาพการแถลงข่าวของปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ที่กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน เมื่อ 28 พ.ย. 2567

ปูตินระบุระหว่างร่วมแถลงข่าวที่กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ว่า “หากประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามกับเราในตอนนี้ กลายมาเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ เราจะทำยังไง? ในกรณีนี้ เราจะใช้(อาวุธ) ทั้งหมด ผมขอย้ำว่า ทุกอย่างรัสเซียมีอยู่ที่สามารถทำลายล้างได้... ทุกอย่าง .... เราจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เราจะคอยดูทุกก้าวของพวกเขา”

ปูตินกล่าวด้วยว่า “หากใครบางคนทำการโอนถ่ายบางอย่างเป็นทางการ นั่นก็จะหมายถึงการละเมิดพันธกรณีการไม่แพร่ขยาย(อาวุธนิวเคลียร์) ที่พวกเขาทำกันไว้”

ยูเครนรับสืบทอดอาวุธนิวเคลียร์มาจากอดีตสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายไปในปี 1991 แต่ก็กำจัดทั้งหมดไปเมื่อเข้าร่วมบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ (Budapest Memorandum) ในปี 1994 เพื่อแลกกับการรับประกันด้านความมั่นคงจากรัสเซีย สหรัฐฯ และอังกฤษ

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี พร่ำบ่นมาเสมอว่า การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ในครั้งนั้นทำให้ความมั่นคงของยูเครนสั่นคลอน และใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลเพื่อเข้าร่วมกับนาโต้ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียคัดค้านอย่างเต็มที่

  • ที่มา: วีโอเอและรอยเตอร์