วุฒิสมาชิก เจ ดี แวนซ์ จากรัฐโอไฮโอ ปราศรัยตอบรับการเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นในประเด็นความมั่นคงของประเทศและนโยบายต่างประเทศภายใต้ธีม “Make America Strong Again”
ในคำปราศรัยที่การประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อคืนวันพุธ แวนซ์ กล่าวว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นตัวแทนของความหวังสุดท้ายที่ดีที่สุดของอเมริกาในการฟื้นฟูสิ่งที่ว่า หากสูญเสียไปแล้ว ก็อาจะไม่มีทางกลับคืนมาได้อีก” และว่า “ประเทศที่เด็กชายจากสังคมชนชั้นแรงงานที่มาจากที่อันห่างไกลจากคลังแห่งอำนาจสามารถมายืนบนเวทีนี้ในฐานะรองประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐอเมริกาได้”
นอกจากนั้น สว.วัย 39 ปีที่เคยทำงานในสายการลงทุน ในฐานะ Venture Capitalist ยังได้ใช้เวลาไม่น้อยพูดถึงภัยคุกคามจากจีน แต่ไม่ได้พูดเกี่ยวกับการรุกรานรัสเซียโดยยูเครนและสงครามในกาซ่าเลย
ถึงกระนั้น แวนซ์พยายามสะท้อนถึงแนวความคิดการเป็นชาวรีพับลิกันในยุคของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่สนับสนุนการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของอเมริกา แต่ก็แสดงให้เห็นถึงมุมมองเกี่ยวกับยูเครนที่ขัดแย้งกับความคิดของตน ด้วยการร้องขอให้พรรครีพับลิกัน “เป็นพรรคที่ไม่กลัวที่จะอภิปรายโต้แย้งแนวความคิดต่าง ๆ”
Your browser doesn’t support HTML5
สว.หนุ่มจากรัฐโอไฮโอนี้เพิ่งเข้าสู่วงการการเมืองไม่ถึง 2 ปีและมีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศไม่มาก แต่สิ่งที่ได้กล่าวออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับวาทะของทรัมป์ว่า “อเมริกา มาก่อน” (America First) และเผยให้เห็นมุมมองต่อสถานการณ์โลกที่สรุปสั้น ๆ ได้ว่า สนับสนุนอิสราเอล ต้านจีนและทำให้ยุโรปกระวนกระวายใจ
ในฐานะที่เคยเป็นทหารอเมริกันในเหล่านาวิกโยธินที่ร่วมสงครามในอิรัก แวนซ์แสดงความข้องใจเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ ทำการแทรกแซงทางทหารในต่างประเทศ ยกเว้นแต่กรณีของอิสราเอล ทั้งยังแสดงจุดยืนคัดค้านการส่งความช่วยเหลือไปประเทศอื่นเป็นส่วนใหญ่ โดยแย้งว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถสนับสนุนทั้งยูเครนและตะวันออกกลาง รวมทั้งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกไปพร้อม ๆ ทีเดียวกันได้
เมื่อครั้งเข้าร่วมประชุม Munich Security Conference ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แคนดิเดตชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้เคยกล่าวว่า “มันไม่สมเหตุสมผลเลย” และว่า “คิดคำนวณอย่างไรก็ไม่เวิร์ค ในแง่ของการผลิตอาวุธ”
อย่างไรก็ตาม แวนซ์นั้นไม่ได้เป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องการโดดเดี่ยวตนเองอย่างที่บางคนวิจารณ์ไว้ ตามความเห็นของ เอ็มมา แอชฟอร์ด นักวิชาการอาวุโสจากโครงการ Reimagining U.S. Grand Strategy ของศูนย์ Stimson Center
ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ Quincy Institute for Responsible Statecraft เมื่อไม่นานมานี้ แวนซ์ให้คำจำกัดความเป้าหมายนโยบายต่างประเทศของตนไว้ว่า “เราต้องการให้ชาวอิสราเอลและ(ผู้นับถือศาสนาอิสลาม)นิกายสุหนี่รับผิดชอบการพิทักษ์สันติราษฎร์ในภูมิภาคของตน เราต้องการให้ชาวยุโรปดูแลความสงบเรียบร้อยภูมิภาคของตน และเราก็ต้องการที่จะสามารถมุ่งความสนใจไปยังเอเชียตะวันออกมากขึ้น”
แอชฟอร์ด นักวิชาการอาวุโสศูนย์ Stimson Center บอกกับ วีโอเอ ว่า “คุณอาจเรียกเขาว่าเป็นผู้นิยมความสัจจริง (realist) หรือบางทีก็เป็นผู้นิยมการจัดลำดับความสำคัญ (prioritizer) ก็ได้” แต่นั่นก็เป็นภาพที่แตกต่างอย่างมากจากแนวนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนที่ยืนยันมาเสมอว่า “ทุกภูมิภาคนั้นมีความเชื่อมต่อกัน และสหรัฐฯ ก็ต้องเป็นผู้นำในทุกด้าน”
แอชฟอร์ดกล่าวด้วยว่า สิ่งที่แวนซ์นำเสนอยังถือเป็นการฉีกออกจากนโยบายต่างประเทศหลังยุคสงครามเย็นของสหรัฐฯ ด้วย
ลดการสนับสนุนยูเครน
ในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญนั้น แวนซ์มีจุดยืนไปในทิศทางเดียวกับทรัมป์ที่ย้ำว่า กรุงวอชิงตันต้องลดการสนับสนุนยูเครนและบีบให้ยุโรปมีบทบาทมากขึ้นในด้านการรักษาความมั่นคงในทวีปของตน
แวนซ์กล่าวที่การประชุมที่มิวนิคไว้ว่า “ผมไม่คิดว่า วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่สำหรับยุโรป” และว่า กรุงเคียฟควรหาทาง “เจรจาสันติภาพ” กับมอสโก แม้ว่านั้นจะหมายถึงการยอมยกอาณาเขตของตนให้รัสเซียก็ตาม โดยความเห็นแนวนี้ได้ทำให้กลุ่มนักการทูตยุโรปกังวลหนักขึ้นมาทันที
จอห์น เฮิบสท์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสของศูนย์ Eurasia Center ของ Atlantic Council ออกมาวิจารณ์แวนซ์ในเรื่องนี้และบอกกับ วีโอเอ ว่า สว.ผู้นี้ “ไร้เดียงสาอย่างมากเกี่ยวกับรัสเซียภายใต้การนำของปูติน”
เมื่อกลับไปมองความเห็นของทรัมป์ที่ว่า ตนจะไม่ปกป้องประเทศใด ๆ ก็ตามที่ไม่จัดงบประมาณกลาโหมตามเป้าของนาโต้ และให้ความเห็นเชิงสนับสนุนปูตินให้โจมตีประเทศเหล่านั้น ผนวกกับคำวิพากษ์วิจารณ์ยูเครนของแวนซ์แล้ว รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของทรัมป์-แวนซ์กลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้ยุโรปตื่นตระหนกทั้งทวีปทันทีด้วย
แต่เฮิบสท์ก็ยังมองโลกในแง่ดีและให้ความเห็นว่า ทรัมป์อาจไม่มองว่ายูเครนคือประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุด แต่การที่อดีตปธน.ผู้นี้ “มองตนเองว่าเป็นผู้นำแนวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ (strongman) และไม่ต้องการถูกมองว่าดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ล้มเหลว ... ชัยชนะของรัสเซียในยูเครน หาก(เกิดขึ้นในเวลาที่)ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี จะถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวอย่างมากในด้านนโยบายต่างประเทศ”
สนับสนุนอิสราเอลมากขึ้น
ขณะที่ แวนซ์นำเสนอตัวเองว่าเป็นผู้ที่ทายาทแนวนโยบาย “อเมริกา มาก่อน” ประเด็นของอิสราเอลอาจเป็นข้อยกเว้น โดยเมื่อดูการออกมาอ้างถึงความเชื่อทางศาสนาคริสต์แล้ว สว.หนุ่มผู้นี้อาจเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลหนักยิ่งกว่าปธน.ไบเดนเสียอีก และอาจผลักดันให้ส่งความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับคัดค้านการตั้งขีดจำกัดในการทำสงครามของอิสราเอลด้วย
ไบรอัน คาทูลิส นักวิชาการอาวุโสจาก Middle East Institute กล่าวว่า “การสนับสนุนอิสราเอลอย่างหนักของแวนซ์ คือ ภาพสะท้อนของการให้ความสำคัญต่อมุมมองตามความเชื่อตามคำสอนของศาสนาคริสต์แบบอนุรักษ์นิยมที่พรรครีพับลิกันยึดถืออยู่ในปัจจุบัน และความคิดของกลุ่มชาตินิยมที่เป็นคนผิวขาวและนับถือศาสนาคริสต์ที่มีที่มาจากอิทธิพลของทรัมป์ที่คุมพรรคนี้ไว้อยู่”
คาทูลิสยังวิจารณ์มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์โลกของแวนซ์ว่า เป็นภาพสะท้อนของการโต้แย้งแบบเลือกข้างสุดขั้วและมีความสับสน จากขั้วค่ายแนวคิดโดดเดี่ยวตนเอง ที่ถือกำเนิดขึ้นมาหลังสหรัฐฯ ไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน มากกว่าจะเป็น “โลกทัศน์ที่เชื่อมโยงกันจริง ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์และค่านิยมของอเมริกาในโลกนี้”
แนวคิดสายเหยี่ยวต่อจีน
ในการกล่าวปราศรัยเมื่อคืนวันพุธที่การประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน (RNC) แวนซ์ได้กล่าวโทษต่อไบเดนว่า เป็นผู้ที่ทำให้การหดตัวลงของภาคอุตสาหกรรม (deindustrialization) สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐฯ ที่เห็นมาตลอดช่วงชีวิตตน
แวนซ์กล่าวว่า “ประเทศของเรามีแต่สินค้าราคาถูกจากจีน ที่ผลิตโดยแรงงานต่างชาติต้นทุนต่ำ เต็มไปหมด และในทศวรรษข้างหน้า (ก็จะมี) เฟนทานิลจากจีนที่คร่าชีวิตคนอีก” และว่า “โจ ไบเดน ทำพลาดอย่างหนักและชุมชนของผมก็เป็นผู้รับกรรม”
คำพูดของสว.ผู้นี้สะท้อนคำกล่าวหาของทรัมป์ที่ว่า จีนขโมยงานด้านการผลิตไปจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะงานในภูมิภาคแถบตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ (Midwest) ซึ่งเป็นถิ่นที่แวนซ์เติบโตขึ้นมา
“เราจะปกป้องค่าจ้างของคนงานอเมริกันและหยุดพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ให้สร้างชนชั้นกลางของตนบนหลังของพลเมืองอเมริกัน” แวนซ์กล่าว
ดีน เชน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Ramapo College ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ว่า แวนซ์ “สนับสนุนการดำเนินมาตรการจำกัดทางเศรษฐกิจและการเก็บภาษีที่สูงขึ้นต่อสินค้านำเข้าและการลงทุนจากจีน”
เชน คาดว่าท่าทีของแวนซ์ในประเด็นจีนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มชาตินิยมแบบทรัมป์ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ หากได้รับเลือกตั้ง
- ที่มา: วีโอเอ